Thu. Nov 21st, 2024

    นายอัมพร ด้วงปาน

    ผู้เป็นตำนานแห่งกองทุนหมู่บ้านและสวัสดิการชุมชน

                  นายอัมพร ด้วงปาน เกิดเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๘๔ เป็นชาวตำบลคลองเปียะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา บุตรนายรื่น-นางเจียม ด้วงปาน  เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ และนักธรรมโท  เริ่มรับราชการเป็นนักการภารโรง  แต่มีความสนใจงานด้านการเกษตร ชุมชน และหลักธรรมคำสอนทางศาสนามากเป็นพิเศษ จึงได้ประยุกต์องค์ความรู้ทางศาสนากับการจัดการด้านชุมชนเข้าด้วยกัน ด้วยการริเริ่มตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ตำบลคลองเปียะขึ้น เพื่อให้มีสถาบันการเงินของประชาชนในชุมชน และให้สมาชิกกู้เงินเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้นายทุนที่เอารัดเอาเปรียบ แต่นำดอกเบี้ยมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สมาชิก และส่งเสริมการออมทรัพย์เป็นหลัก นอกจากการตั้งกองทุนที่คลองเปียะแล้ว  ท่านยังได้เผยแพร่แนวคิดดังกล่าวไปยังกลุ่มผู้สนใจอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก  และยังเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยชาวบ้าน เพื่อสืบทอดอุดมการณ์ของชุมชนอย่างได้ผล กลายเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดภูมิปัญญาของเยาวชนเพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต

                ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ นายอัมพรได้สอบบรรจุเป็นนักการภารโรงที่โรงเรียนวัดช่องเขา และ   ในปีเดียวกันนี้ที่นายอัมพรได้ก่อตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ตำบลคลองเปียะ เริ่มแรกมีสมาชิกเข้าร่วมจำนวน ๕๑ คนด้วยเงินทุน ๒,๘๕๐ บาท ปัจจุบันกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ฯมีสมาชิก จำนวนมากถึง ๗,๐๐๐ คน ครอบคลุมประชากรในพื้นที่ ๔ ตำบล มีเงินทุนหมุนเวียนมากกว่า ๓๐๐ ล้านบาท ท่านกล่าวว่า “เรามีอุดมการณ์ของกลุ่มสัจจะ คือไม่อยากให้ประชาชนเป็นหนี้ แม้คนจะออมอย่างเดียว ไม่ได้กู้ก็ตาม กลุ่มจะไม่นำเงินไปทำธุรกิจ แต่นำไปออมอย่างเดียว โดยให้สมาชิกนำไปใช้ทำธุรกิจกันเอง ซึ่งที่ผ่านมาสามารถปันผลได้มากกว่าร้อยละ ๑๐ ต่อปี มาตลอด”  นายอัมพรกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า “ถ้ามีเงินออม ไม่มีเงินกู้ ถือว่าสำเร็จแล้ว เพราะแสดงว่าคนไม่ลำบาก”

                นายอัมพรมีผลงานที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ คือ การจัดตั้งมหาวิทยาลัยชาวบ้าน สถาบันถ่ายทอดภูมิปัญญาไทย เน้นการเรียนรู้สู่การพึ่งตนเอง เป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน (การออมทรัพย์) ให้กับสถานศึกษาหลายแห่งในประเทศ และเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของนักศึกษาต่างประเทศด้วย เช่น มาเลเซีย ติมอร์ตะวันออก จีน ลาว ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น รวมถึงการเชิญไปประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในต่างประเทศ  

                 นายอัมพรเป็นนักคิด นักปฏิบัติ นักสร้างเงินทุน และสวัสดิการชุมชน ทำให้ผู้ที่มีอุดมการณ์     เฉกเช่นเดียวกับนายอัมพร ต่างต้องการที่จะรวมพลังเพื่อสานฝันให้เป็นจริง ด้วยเหตุนี้ จึงมีการจัดตั้งเครือข่ายขึ้นในทุกระดับทั้งในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวเป็นเครือข่ายระดับจุลภาค ที่ผลักดันให้เกิดเครือข่ายระดับมหภาค โดยนายอัมพรเป็นผู้บุกเบิกให้เกิดเวทีเครือข่ายของผู้นำชุมชนระดับภาคใต้ ๖ จังหวัด  และนายอัมพรยังได้เข้าไปมีบทบาทในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้นำชุมชนและองค์กรต่าง ๆ อีก ๒๗ จังหวัด รวมทั้งเข้าร่วมในการบริหาร “กองทุนรวมน้ำใจระดับชาติ” อันเป็นเครือข่ายระดับชาติที่นายอัมพร ต้องอาศัยประสบการณ์ ความสามารถ และความเสียสละทั้งชีวิตดำเนินการ ทำให้คลองเปียะเป็นสถานที่ที่มีผู้มาศึกษาและปฏิบัติตามมากมาย  

           

                 นอกจากความรู้ด้านกองทุนชุมชนที่ได้ช่วยสังคมในชุมชนให้กินดีอยู่ดีแล้ว นายอัมพร ยังทำ      วนเกษตรแบบยั่งยืน บนที่ดิน ๑๐ ไร่ โดยปลูกพืชทุกอย่างที่สามารถปลูกได้ในภาคใต้ ทำการเกษตรแบบผสมผสาน และยังชักชวนให้เพื่อนบ้านทำการเกษตรแบบพึ่งตนเองตามแบบของตน นายอัมพรได้ใช้หลักการถ่ายทอด ๔ ประการในการชักชวน คือ บอกให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เป็นให้จริง

                  ผลงานของนายอัมพรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ เป็นกรรมการด้านการศึกษาและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประจำหมู่บ้าน ปี ๒๕๑๗ และ ๒๕๑๘ รับรางวัลดีเด่นด้านกำจัดไข้มาลาเรีย ของกระทรวงสาธารณสุข ปี ๒๕๓๘ เป็นคนดีศรีสังคม ของมูลนิธิหมู่บ้าน ปี ๒๕๓๙ ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณอนุสรณ์สงขลานครินทร์  ปี ๒๕๔๐ เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม (สาขาภูมิปัญญา) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ปี ๒๕๔๑ เป็นผู้นำองค์กรดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ปี ๒๕๔๒ รับรางวัลเอกลักษณ์ของชาติ จากสำนักนายกรัฐมนตรี ปี ๒๕๔๓ รับรางวัลเสมาธรรมจักร จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ปี ๒๕๔๔ ได้รับการยกย่องเป็นครูภูมิปัญญาไทย จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ

                   นายอัมพรมีคุณูปการต่อสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนโดยให้การสนับสนุนช่วยเหลือ ศปจ.สงขลา จัดกระบวนการเรียนรู้ ในหลายรายวิชา เช่น การจัดการทุนของชุมชนเพื่อสวัสดิการชุมชน ซึ่งนักศึกษาได้ไปเรียนรู้กับท่าน และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเจ้าของแนวคิด ซึ่งเป็นปราชญ์อย่างแท้จริง และบ่อยครั้งที่ ศปจ.สงขลาจัดกิจกรรมของนักศึกษาในแต่ละเทอม ได้เชิญท่านมาเป็นวิทยากรและร่วมกิจกรรมก็ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง

    สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน จึงเชิดชูเกียรติ 

    นายอัมพร ด้วงปาน

     เป็น “เมธาจารย์มหาวิทยาลัยชีวิต”