Sat. Nov 23rd, 2024

    พระครูพิพัฒนโชติ

    พระผู้สร้างต้นแบบธนาคารชีวิต

             พระครูพิพัฒนโชติ เดิมชื่อนายทอง ผ่องสุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๙ ในครอบครัวชาวนาอยู่ใกล้วัดอู่ตะเภา ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นบุตรของนายสีและนางจันทร์แก้ว ผ่องสุวรรณ เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ นักธรรมเอก และวุฒิบัตรการบริหารคณะสงฆ์สำหรับพระสังฆาธิการจาก มหามกุฏราชวิทยาลัย อุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๑๒ ณ วัดหน้าพระลาน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ต่อมาย้ายมาอยู่วัดอู่ตะเภาที่บ้านเกิด ปี ๒๕๓๓ ย้ายไปรักษาการเจ้าอาวาสวัดดอนซึ่งอยู่ห่างจากวัดอู่ตะเภาประมาณ ๓ กิโลเมตร ปี ๒๕๓๖ จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนและอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้

              พระครูพิพัฒนโชติมีความสนใจใฝ่ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาชีวิตและชุมชนเป็นทุนเดิม และ ที่สำคัญ ได้แก่ เมื่อราวกลางปี ๒๕๒๗ ท่านรับนิมนต์ไปเข้าร่วมการประชุมงานพัฒนาหมู่บ้าน จัดโดยมูลนิธิไทยพัฒนาที่วิทยาลัยครูสงขลา(ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา) ซึ่งได้จุดประกายความคิดต่อยอดให้แก่ท่านสำหรับการก่อตั้งธนาคารชีวิตกลุ่มวัดอู่ตะเภาในเวลาต่อมาเป็นแห่งแรกในปีเดียวกันนั้นเองเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๒๗ เพราะต้องการช่วยเหลือชาวบ้านให้มีเงินออม พอกินพอใช้ ลดภาระหนี้สิน มีรายได้เลี้ยงดูตัวเอง และส่งบุตรหลานให้ได้รับการศึกษาเล่าเรียนที่ดี โดยมีสมาชิกเริ่มต้น  ๑๘ คน ปัจจุบันมี ๖๐๐ คนเศษ มีเงิน ๗ ล้านบาทเศษ และในปี ๒๕๓๔ ได้จัดตั้งอีกแห่งหนึ่งคือธนาคารชีวิตกลุ่มวัดดอน มีสมาชิกเริ่มต้น ๓๔ คน ปัจจุบันมี ๓๖๐ คน มีเงิน ๑ ล้านบาทเศษ

              การจัดตั้งธนาคารชีวิตของพระครูพิพัฒนโชติได้ใช้ชีวิตและชุมชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช้กำไรเป็นตัวตั้งเหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป โดยบูรณาการหลักธรรมของพระพุทธศาสนาผสมผสานกลมกลืนเชื่อมโยงกับความรู้ทางโลกยุคใหม่ในการดำเนินงาน    และการบริหารจัดการ นำเอา หลัก”เบญจศีล”ใช้เป็นวินัยของกลุ่ม ให้สมาชิกรู้จักควบคุมดูแลตัวเอง มีสำนึกในกติกาของสังคม มีความมั่นใจในพลังสัจจะการออมทรัพย์ ทำความดี   ละเว้นความชั่ว มีจิตใจผ่องใส ให้สมาชิกอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัยและมีสวัสดิการ คิดช่วยเหลือ   กลุ่มมากกว่าคิดเอาประโยชน์จากกลุ่ม มีการแบ่งสมาชิกออกเป็นกลุ่มย่อย ๓๘ กลุ่ม ตามหลักมงคลธรรม   ๓๘ ประการ เพื่อให้ร่วมมือกันทำงานเป็นทีม เช่น กลุ่มขันติ กลุ่มไม่ดื่มน้ำเมา กลุ่มบำรุงบิดามารดา กลุ่มวาจาสุภาษิต กลุ่มไม่คบคนพาล กลุ่มละเว้นจากความชั่ว กลุ่มบูชาคนควรบูชา และกลุ่มประพฤติธรรม เป็นต้น ผลงานของกลุ่มย่อยจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่เพื่อให้การรับรองต่อไป การเปลี่ยนแปลง   หลักวิธีการดำเนินงานของกลุ่มจะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นมติจากที่ประชุมใหญ่เท่านั้น ซึ่งเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในชุมชนของธนาคารชีวิตมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า ๓๐ ปีแล้ว

              ทางด้านการบริหารจัดการธนาคารชีวิต สมาชิกจะทำการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร โดยมีพระครูพิพัฒนโชติเป็นประธานที่ปรึกษา สมาชิกจะช่วยกันทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทน กำหนดให้สมาชิกฝากเงินออมวันละ ๑ บาท โดยไม่มีดอกเบี้ย ไม่ถอนเงินออม  และนำเงินออมมาใช้ปล่อยเงินกู้ให้แก่สมาชิกคิดดอกเบี้ยร้อยละ ๑ ต่อเดือน กู้ได้ไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท และไม่เกิน ๒ เท่าเงินออมของผู้กู้ มีระยะเวลาการชำระหนี้ไม่เกิน ๓ ปี ต้องผ่อนชำระหนี้เป็นเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทุกเดือน หากขาดการชำระหนี้เกิน ๓ เดือน พระครูพิพัฒนโชติจะขอเชิญมาพูดคุยกัน เพื่อขอทราบปัญหา เช่นบางคนมีความจำเป็นต้องใช้เงินส่งลูกให้ได้รับการศึกษาเล่าเรียน และบางคนได้รับอุบัติเหตุ เป็นต้น ซึ่งสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาได้ด้วยดีเสมอมา จะทำการประชุมสมาชิกร่วมกันเดือนละ ๑ ครั้ง โดยจะใช้บริเวณใต้ร่มไม้ใหญ่หรือบนศาลาวัดเป็นสถานที่จัดการประชุม มีวาระสำคัญได้แก่ เรื่องที่แจ้งให้สมาชิกทราบ การปรึกษาหารือ  การรับฝากเงิน การชำระเงินกู้และการกู้เงิน โดยจะทำทุกอย่างให้เสร็จภายในวันเดียวกัน กลุ่มวัดดอนจะประชุมกันทุกวันเสาร์แรกของเดือน กลุ่มวัดอู่ตะเภาจะประชุมกันทุกวันอาทิตย์แรกของเดือน 

               ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ได้รับจะถูกนำไปใช้จัดสรรเป็นสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกทางด้านสุขภาพ การส่งเสริมอาชีพ การศึกษาอบรม การช่วยเหลือกันยามฉุกเฉิน รวมทั้งการช่วยสมทบกิจกรรมการกุศล ซึ่งที่ผ่านมา            มีมูลค่านับสิบล้านบาท

              นอกจากนั้น พระครูพิพัฒนโชติได้จัดตั้งกองทุนทำระบบประปาหมู่บ้านชุมชนวัดดอนให้มีน้ำกินน้ำใช้ในปี ๒๕๓๓ เพราะราชการยังไม่ทำให้ ด้วยการระดมเงินครอบครัวละ ๑,๕๐๐ บาทจำนวน ๒๐๐ ครัวเรือน ต่อมากลายเป็นกองทุนที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท ปัจจุบันมีเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาทเศษ สามารถนำไปใช้เป็นสวัสดิการปล่อยเงินกู้ให้แก่สมาชิกคิดดอกเบี้ยเช่นเดียวกับธนาคารชีวิต และท่านยังช่วยบริหารกองทุนส่งเสริมอาชีพของชุมชนวัดดอนและวัดอู่ตะเภา ซึ่งรัฐบาลจัดสรรให้ตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ จำนวน ๒ ล้านบาท ปัจจุบันเงินต้นยังอยู่ครบถ้วน ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจะนำไปจัดสรรใช้เป็นสวัสดิการให้แก่สมาชิก ในขณะที่กองทุนนี้ของชุมชนทั่วประเทศหลายแห่งใช้เงินหมดไปนานแล้ว

              พระครูพิพัฒนโชติยังได้จัดกิจกรรมกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา จัดแข่งเรือเล่นเพลงและการแสดงความเคารพต่อสายน้ำ อนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกด้วย ซึ่งท่านได้กล่าวถึงชีวิตที่ผ่านมาตอนหนึ่งว่า “คิดว่าถ้าเป็นการค้าขายก็มีกำไรชีวิตแล้ว เพราะว่าเราได้ทำงานเพื่อ

              ส่วนรวมให้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่องมานานพอสมควร” และว่า“ถ้ามีปัญหาต้องรีบแก้ไขจะจบง่าย แม้จะมีปัญหาเกิดขึ้นใหม่ก็มักจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่หากปล่อยทิ้งไว้อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่แก้ไขได้ยาก”

              พระครูพิพัฒนโชติเคยได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติในปี ๒๕๔๑ รางวัลคนดีศรีสังคมจากมูลนิธิหมู่บ้านร่วมกับมูลนิธิหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และปี ๒๕๔๔ ได้รับรางวัลครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ ๑ จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ

              พระครูพิพัฒนโชติเป็นบุคคลต้นแบบในการสร้างชุมชนเรียนรู้ชุมชนเข้มแข็งอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องยาวนานมากกว่า ๓๐ ปี ทำงานให้แก่ชุมชนเล็ก ๆ ที่มีคุณค่าและความหมายอันยิ่งใหญ่ของชีวิตและการอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคมด้วยความเพียรทน ซึ่งเป็นรากเหง้าของมหาวิทยาลัยชีวิต และอนุเคราะห์ให้ศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชนสงขลาของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนได้ใช้วัดอู่ตะเภาเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานและเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่นักศึกษาอย่างดียิ่งตลอดมา

    สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน

    จึงเชิดชูเกียรติ

    พระครูพิพัฒนโชติ

    เป็น “เมธาจารย์มหาวิทยาลัยชีวิต”