วันเสาร์ที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๕ (ภาคเช้า)
ลงพื้นที่ศึกษาดูงานองค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที ตำบลบางคนที อำเภอบางคนที การนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จำนงค์ แรกพินิจ อธิการบดี ได้กล่าวโอวาทการเรียนรู้ในระดับปริญญาโทและให้กำลังใจ กับนักศึกษาปี ๒๕๖๔ ในครั้งนี้ด้วย และนักศึกษารับฟังการบรรยายจาก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที ถึงการบริหารจัดการชุมชนท้องถิ่น โดยใช้แนวทาง “ความรักความสามัคคีสร้างสังคมเอื้ออาทร เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสในชุมชน”
อบต.บางคนที จัดตั้งขึ้นโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย ได้ยกฐานะสภาตำบลบางคนที เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที ตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๐ และต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยุบรวมองค์การบริหารส่วนตำบลยายแพงกับองค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.๒๕๓๗ แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๔๖ มาตรา ๔ จัตวา และให้เรียกชื่อองค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที เมื่อวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๗ โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับทั่วไป เล่ม ๑๒๑ ตอนพิเศษ ๑๐๒ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๗
องค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีระยะทางจากที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลถึงที่ว่าการอำเภอบางคนที ประมาณ ๓ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากจังหวัดสมุทรสงคราม (ศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม) ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร มีอาณาเขต ดังนี้
ทิศเหนือติดต่อกับเทศบาลตำบลบางนกแขวก และตำบลตาหลวง จังหวัดราชบุรี ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลจอมปลวก และตำบลกระดังงา ทิศตะวันออกติดต่อกับตำบลตาหลวง อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ทิศตะวันตกติดต่อกับตำบลบางยี่รงค์ (แม่น้ำแม่กลอง)
มีจำนวนเนื้อที่ทั้งหมด ๔,๖๖๒.๕๐ ไร่ หรือ ๗.๔๖ ตารางกิโลเมตร มีหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมด คือ ๑๓ หมู่บ้าน อยู่ในเขตพื้นที่ ๒ ตำบล คือ ตำบลบางคนที หมู่ที่ ๑,๒,๓,๔,๕,๗,๘ และ ๙ รวม ๘ หมู่บ้าน (หมู่ที่ ๖ อยู่ในเขตเทศบาลตำบลบางนกแขวก) และตำบลยายแพงหมู่ที่ ๑,๒,๓,๔ และ ๕ รวม ๕ หมู่บ้าน จำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น ๓,๓๓๗ คน แบ่งออกเป็นประชากรตำบลบางคนที จำนวน ๑,๘๒๐ คน แยกเป็นชาย ๘๗๕ คน หญิง ๙๔๕ คน ประชากรตำบลยายแพง จำนวน ๑,๕๑๗ คน แยกเป็นชาย ๗๐๗ คน หญิง ๘๑๐ คน
เป็นที่ราบลุ่ม มีสวนผลไม้โดยทั่วไป สภาพดินเป็นดินร่วน มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำการเกษตรกรรม มีลำคลองหลายสายไหลผ่านทั่วทั้งพื้นที่ เนื่องจากจังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเล จึงได้รับอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ฤดูหนาวอากาศไม่หนาวจัด ฤดูร้อนไม่ร้อนจัด ราษฎรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพ ดังนี้ ๑) เกษตรกรรม ได้แก่ ทำสวนผลไม้ประเภท มะพร้าว ส้มโอ กล้วย มะม่วง ลิ้นจี่ ๒) อุตสาหกรรมในครอบครัว ได้แก่ ทำน้ำตาลมะพร้าว แปรรูปมะพร้าว เย็บกระทงใบตองแห้ง ๓) ค้าขาย ได้แก่ ขายสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเบ็ดเตล็ด ขายของตามตลาดนัด ๔) รับราชการ ๕) รับจ้าง ได้แก่ ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม และรับจ้างทั่วไป ๖) อาชีพอิสระ และอื่น ๆ
หน่วยธุรกิจในเขตพื้นที่ อบต. ประกอบด้วย การจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าเบ็ดเตล็ดร้านจำหน่ายอาหาร ร้านขายยารักษาโรคแผนโบราณและแผนปัจจุบัน จำหน่ายมะพร้าว (ล้งมะพร้าว) โรงงานกล่องกระดาษ โรงงานน้ำมันมะพร้าว โรงงานผลิตกระบะปลูกกล้วยไม้จากกาบมะพร้าว สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอบางคนที
นางสาวเรณู เล็กนิมิตร เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที ที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจดี ในการช่วยเหลือชาวบ้าน ชุมชนท้องถิ่นและสังคมมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน รวมแล้ว ๔ สมัย ผลการทำงานก่อให้เกิดการหลอมรวมประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่ สร้างความรักความสามัคคีในกลุ่ม ให้มีการช่วยเหลือนซึ่งกันและกัน สร้างสรรค์คุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้เปราะบางให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง
ปัจจุบันเป็นกรรมการบริหารสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน และเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษให้บุคลากรของสถาบันฯ โดยยึดมั่นแนวทางการใช้ “ความรักความสามัคคีสร้างสังคมเอื้ออาทร เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสในชุมชน” จึงได้รับการยกย่องจากหน่วยงานต่าง ๆ ในระดับจังหวัดและระดับชาติ จากความอุทิศตัว เสียสละและทุ่มเทดังกล่าว สภาสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน จึงมีมติเชิดชูเกียรติให้นางสาวเรณู เล็กนิมิต เป็น “เมธาจารย์มหาวิทยาลัยชีวิต”
นายกฯ เรณู ได้นำเสนอข้อมูลการดูแลคนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง ได้มีการร้องเพลงให้ผู้สูงอายุฟัง อาบน้ำให้ผู้ป่วยติดเตียง เพื่อทำคุณภาพชีวิตให้กลุ่มเหล่านี้ดีขึ้น มีการมอบเงินสงเคราะห์เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับคนยากไร้ คนด้อยโอกาสทางสังคม มีการสร้างกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” ทุก ๆ เดือน เพื่อสร้างความสามัคคี รักษาสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญสร้างการมีส่วนร่วมระหว่าง ต.บางคนที กับ ต.ยายแพง และพื้นที่โดยรอบ มีการจัดการขยะชุมชนโดยการสร้างความสมัครใจของชุมชน เริ่มจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ โดยการทับถมเศษขยะที่ย่อยสลายได้ เพื่อให้กลายเป็นดินจุลินทรีย์
ขับเคลื่อนการมีส่วนร่วม ส่งผลให้เกิดอาชีพ “ชมรมคนตกกุ้ง” ๖ ปีมาแล้ว มีการไลฟ์สดขายกุ้ง มีเครือข่ายต่าง ๆ เช่น วัดอินทาราม มาสนับสนุนทุน อาหาร เครื่องดื่ม ในอนาคตมีการวางแผนจัดทำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้น ไม่ใช่เพียงเฉพาะกลุ่มดังกล่าวยังมี กลุ่มอาชีพต่าง ๆ ที่พัฒนาต่อยอด กลุ่มเพาะเห็ด กลุ่มลูกประคบสมุนไพร กลุ่มจักสานทางมะพร้าว กลุ่มมัดย้อมเปลือกมะพร้าว มีการแก้ไขปัญหาคนพิการ โดยประสานจ้างงานกลุ่มคนพิการ ให้เป็นไปตาม ม.๓๓ ม.๓๕ มีผู้พิการ ๑๕๕ คน มีการจ้างงานเกือบ ๑๐ % มีการทำโครงการปันผักปันสุข ที่ช่วยให้สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารการกินไปได้ระยะหนึ่ง
(ภาคบ่าย)
ศึกษาดูงานนายปัญญา โตกทอง เมธาจารย์ ม.ชีวิต ผู้ขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมในชุมชนมานานกว่า ๒๐ ปี เป็นแกนนำการแก้ปัญหาความขัดแย้งของชุมชน โดยใช้กระบวนงานวิจัยของ สกว. เรื่อง รูปแบบการจัดการน้ำในคลองตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ที่เป็นหัวหน้าโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของน้ำ ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับน้ำ ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงสภาพปัญหา ตลอดจนภูมิหลังและวิถีชีวิตชุมชนในการจัดการน้ำชุมชนแพกหนามแดง เพื่อหาแนวทางในการจัดการน้ำที่เอื้อประโยชน์กับชุมชนแพรกหนามแดง และเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมในการจัดการระบบน้ำตำบลแพรกหนามแดง
นายปัญญา โตกทอง มีแนวความคิดการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนอย่างเป็นระบบ สร้างการเรียนรู้จากการใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องน้ำประปาชุมชน ที่มีความยากลำบากเพราะเป็นพื้นที่น้ำเค็ม สภาพปัญหาของแม่กลองที่มีนำเค็มหนุนหนัก แต่ได้ใช้หลักการที่ว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และต้องตระหนักถึงการพัฒนาเชิงวิถีท้องถิ่น การใช้ชุดงานวิจัยเพื่อรับทราบสภาพปัญหาของพื้นที่ใช้น้ำ (น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย) ที่มีความเกี่ยวพันกับ “น้ำเกิด น้ำตาย” ที่เป็นระบบนิเวศ ๓ น้ำ
นายปัญญา โตกทอง เล่าว่าเมื่อก่อนไม่มีประตูระบายน้ำ เป็น “คลองวัว คลองควาย” แพรกหนามแดงมีอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ชุมชนมีความหลากหลายของระบบนิเวศ ด้วยระบบนิเวศ ๓ น้ำจึงเกิดปัญหาน้ำเค็มหนุนทำให้มีการสร้างประตูกั้นเพื่อป้องกัน การเปิดหรือปิดประตูส่งผลกระทบต่อคนในชุมชน อีกทั้งสร้างความขัดแย้งของทั้งสองฟากฝั่งเกิดขึ้น
นายปัญญา โตกทอง หาหนทางคลี่คลายความขัดแย้ง โดยเริ่มเรียนรู้และถอดบทเรียนด้วยกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ชักชวนชาวบ้านในพื้นที่หาวิธีบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ด้วยโครงการรูปแบบการจัดการน้ำในคลองตำบลแพรกหนามแดง ระดมความคิดเห็นกว่า ๔๐ เวที จนคิดค้นนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำในระบบนิเวศ ๓ น้ำ ด้วยประตูระบายน้ำแบบบานหับเผย เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เปิดปิดตามธรรมชาติของน้ำ เป็นการแก้ปัญหาได้อย่างชาญฉลาด ปัจจุบันทำการติดตั้งแล้วกว่า ๒๑ แห่ง ทำให้ลดความขัดแย้งของคนในชุมชนลงได้
ตำบลแพรกหนามแดงแต่เดิมทำสวนมะพร้าวซึ่งอยู่กับน้ำกร่อยได้ ทำข้าวนาปี ปลูกหน้าฝน เกี่ยวหน้าหนาว ต่อมาน้ำเค็มรุกเข้ามาแทนที่ คนในชุมชนทำมาหากินไม่ได้ หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ แต่ก็เป็นการรับรู้ปัญหาจากข้อมูล แต่ข้อเท็จจริงของสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถแก้ไขได้ตรงจุดตรงประเด็นเท่าที่ควร
เมื่อได้มีการสร้างประตูระบายน้ำประมาณปี ๒๕๒๔-๒๕๒๕ เกิดปัญหาทะเลาะกันระหว่างพื้นที่น้ำจืดกับน้ำเค็ม ส่งผลกระทบต่อการทำมาหากิน จนทำให้ต้องมาวางแผนการแก้ไขปัญหาต่อ นายปัญญาประชุมแสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะวิธีการแก้ปัญหายังไม่ถูกใจกับทั้งสองฝ่าย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐก็ยังติดตามและแก้ไขปัญหาร่วม
ในปี ๒๕๔๒ ใช้งานวิจัยแก้ปัญหาชุมชน โดยค้นหาข้อเท็จจริงมาเป็นข้อมูล วางแผน ทำกิจกรรมถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาน้ำ พูดคุยเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชนกับผู้สูงอายุซึ่งมีอิทธิพลต่อลูกหลานก็จะช่วยแก้ไขปัญหา พูดคุยกันในเวทีกับกับคนน้ำเค็ม น้ำจืด จากกลุ่มเล็ก ๆ ก็กลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ 40 เวทีก็ทำแบบนี้จนได้โมเดลบานประตู ๓ ระดับ ที่สอดคล้องกับระบบนิเวศ ความสำเร็จที่ขึ้นอยู่กับชาวบ้าน มาช่วยแก้ปัญหาของชาวบ้าน รัฐทำหน้าที่ส่วนสนับสนุนจากข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงมาจัดการ รวมถึง “การมีส่วนร่วมต้องคิดต่าง เห็นต่างได้บนฐานข้อมูลข้อเท็จจริง และแก้ไขปัญหาบนวิธีวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ความรู้สึก” เพื่อความตกผลึกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
จากการใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของชุมชน มีการถอดบทเรียน ทำความเข้าใจ คิด วิเคราะห์ หาคำตอบจากการเก็บข้อมูล การทำเวทีชุมชนต้องใช้เทคนิค “จุดไฟ ใส่เชื้อ เกื้อกูล หนุนศรัทธา” เป็นการเข้าถึงคนในชุมชนในเชิงบวก การตั้งคำถามก่อนพูดจำเป็นต้องจัดระบบความคิดให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน “ทำคลอดความคิดชาวบ้าน” เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งถือเป็นสารตั้งต้นของการทำวิจัยเพื่อชุมชนท้องถิ่น การแก้ไขปัญหาของชาวบ้านคือการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างสมดุล
ปัจจุบันนายปัญญา โตกทอง และครอบครัว ดำเนินกิจการทำประมง เลี้ยงกุ้ง ปูทะเลธรรมชาติ ทำไร่ทำสวนไม้ผลควบคู่กัน เลี้ยงปลาสลิดแบบธรรมชาติ และต่อยอดสู่ร้านอาหารท้องถิ่น ร้านข้าวใหม่ปลามัน ที่แบ่งปันกำไรร้อยละ ๑ สมทบกองทุนสวัสดิการตำบลแพรกหนามแดงด้วย
ร้านข้าวใหม่-ปลามัน (Amphawa) ที่มีความพิถีพิถันใส่ใจในรสชาติ และคุณภาพของวัตถุดิบก็สำคัญ ในปัจจุบันหลายคนหันมาให้ความสนใจกับที่มาของอาหารกันมากขึ้น แหล่งที่มาของอาหารที่กินมาจากไหน ปลอดสารพิษหรือไม่ ดีกับสุขภาพอย่างไร ร้านข้าวใหม่ ปลามัน เป็นร้านหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยเลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่น เน้นของที่ผลิตเองโดยชุมชน เป็นการขายอาหารเชิงวัฒนธรรม ทำธุรกิจอาหารแบบ “วิถีธรรม นำวิถีทุน” ร้านอาหารทำด้วยไม้ไผ่-ใบจาก ที่สามารถรับลมธรรมชาติได้เป็นอย่างดี ลูกค้าที่มารับบริการสามารถถ่ายรูป ชมวิวบรรยากาศของร้านโดยเฉพาะยามค่ำคืน
เมนูแนะนำยกให้ยำยอดหนามพุงดอกุ้งสด ต้นหนามพุงดอที่ขึ้นอยู่ตามแนวป่าชายเลน หลายคนคิดว่ากินไม่ได้ แต่ที่ร้านจับเอายอดอ่อนมาทำอาหารได้หลายเมนู อาทิ ยำยอดหนามพุงดอกุ้งสด ยอดหนามพุงดอผัดไข่ แกงส้มยอดหนามพุงดอกุ้งสด หรือจะเป็นเมนูย่อย ๆ คือแกงอ่อมยอดหนามพุงดอกับกรรเชียงปูเนื้อหวาน ๆ รวมไปถึงแกงรัญจวน ปลากะพงทอดน้ำปลา น้ำพริกกะปิผักชะคราม-ปลาหมอเทศ น้ำพริกไข่ปู ไข่ปลาริวกิวผัดฉ่า แกงส้มชะครามไข่กุ้งสด และกุ้งอบเกลือ รวมถึงเมนูอื่นภายในร้าน
ร้านข้าวใหม่ปลามัน ตั้งอยู่ที่ ๖/๙ หมู่ ๖ ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ๗๕๑๑๐ เบอร์ติดต่อ ๐๖๓-๘๒๔-๙๙๙๖ e-mail: popart64@gmail.com facebook: ร้านข้าวใหม่-ปลามันAmphawa line: @kaomaiplamunampawa และ instagram: kaomai.plamun
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๕
อาจารย์ประจำหลักสูตรที่นำโดย อ.ดร.สมพันธ์ เตชะอธิก, อ.ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด, อ.ดร.ไมตรี อินเตรียะ, อ.ดร.วงศ์สถิต วิสุภี และทีมงาน ได้จัดให้มีการสรุปบทเรียนการศึกษาดูงานด้วยเทคนิค AAR (After-Action-Review) โดยมีประเด็นคือ ๑) เป้าหมาย/ความคาดหวัง ๒) ความเป็นจริงในการศึกษาดูงานสิ่งดี ๆ และสิ่งที่ควรปรับปรุงแก้ไข ๓) ปัญหาอุปสรรคของการศึกษาดูงาน ๔) ทางเลือก/วิธีการแก้ไข โดยแบ่งกลุ่มแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นข้างต้น บันทึกสรุป พร้อมนำเสนอ โดยมีอาจารย์ประจำหลักสูตรคอยให้คำแนะนำ พร้อมกับวางแผนการทำวิทยานิพนธ์
สรุปประเด็นจากการศึกษาดูงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สรุปได้ว่า ความพอประมาณของผู้นำ ความพอประมาณในการจัดการน้ำ ระบบการจัดการของผู้นำชุมชน ใช้ความพอดีเข้ามาจัดการ ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ เอื้อต่อวิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้าน การจัดการดินเลนที่มีการเปรียบเทียบระหว่างเครื่องดูดเลนของชาวบ้านกับหน่วยงานภาครัฐ ที่เห็นถึงศักยภาพที่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงของชาวบ้าน ที่ได้ผลดีกว่าหน่วยงานภาครัฐ ทั้งสององค์กรใช้ความมีเหตุผลในการจัดการปัญหา โดยการตอบโจทย์ของการแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน ภูมิคุ้มกันทางใจโดยการสงเคราะห์ช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบาง สร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนพิการ เงื่อนไขความรู้ รอบรู้ รอบคอบ ระวัง มีการสะสมความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ด้านคุณธรรมคือความซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน มีสติปัญญา และการแบ่งปันความรู้ แบ่งปันอาหาร
การนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภการ สิริไพศาล รักษาการคณบดีบัณฑิตศึกษา กล่าวให้โอวาทการเรียนรู้ระดับปริญญาโท ของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ให้กำลังใจในการเรียนรู้ตลอดหลักสูตร การเรียนรู้ตามรายวิชา โดยผู้เรียนทำตามขั้นตอนที่บัณฑิตศึกษากำหนด ก็จะประสบความสำเร็จทางการศึกษา อีกทั้งอาจารย์ประจำหลักสูตรจะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ งานวิชาการ ช่วยแก้ไขปัญหาระหว่างเรียนกับนักศึกษาทุกคน