นายอุทัย บุญดำ เกิดที่ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ต่อมาได้ย้ายมาอาศัยและทำกินที่หมู่ ๑๐ ตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์จนถึงปัจจุบัน สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับในขณะนั้น และศึกษาเพิ่มเติมจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ จากการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
เนื่องจากเกิดและเติบโตในครอบครัวเกษตรกร นายอุทัย บุญดำ ได้เรียนรู้และซึมซับบความรู้ด้านการเกษตรจากพ่อแม่และชุมชน จึงมีความรู้และทักษะทั้งด้านการทำนา ทำไร่ และทำสวน และยึดเป็นอาชีพเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันโดยทำการเกษตรในที่ดิน จำนวน ๔๐ ไร่ แบ่งเป็นสวนยางพารา สวนไม้ผล ปลูกไม้เศรษฐกิจและไม้ใช้สอยในรูปแบบผสมผสาน
นายอุทัย บุญดำ เป็นผู้ใฝ่ใจในการเรียนรู้และมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาในชุมชนท้องถิ่นของตน กระทั่งได้รับการยอมให้ดำรงตำแหน่งประธานศูนย์เรียนรู้เครือข่ายสินธุ์แพรทอง ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเครือข่ายตามหลักการมีส่วนร่วมของชุมชน สมาชิกของเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ทั้ง ๔ ตำบลของอำเภอศรีนครินทร์ อันได้แก่ ตำบลลำสินธุ์ บ้านนา ชุมพล และอ่างทอง
การเกิดขึ้นของศูนย์เรียนรู้เครือข่ายสินธุ์แพรทอง เป็นช่วงที่ชุมชนกำลังตกอยู่ในท่ามกลางการแตกแยกทางความคิดอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครองระหว่างประชาชนในพื้นที่กับรัฐ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่บางส่วนใช้วิธีปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงโดยใช้วิธี “ถีบลงเขา เผาลงถัง” หรือที่รู้จักกันในนาม “ถังแดง” ชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนแถบนี้รวมทั้งนายอุทัย บุญดำ จึงต้องหลบหนีเข้าป่าเพื่อร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จับอาวุธขึ้นต่อสู้กับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ต่อเมื่อรัฐบาลในขณะนั้นประกาศนโยบาย ๖๖/๒๓ คนเหล่านี้จึงได้ทยอยออกจากป่าเข้าร่วมโครงการผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
หลังจากออกจากป่าเข้าสู่เมือง นายอุทัยได้พบว่ากลุ่มหรือองค์กรชุมชนที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามารณรงค์และสนับสนุนให้ก่อตั้งขึ้นในพื้นที่ เช่น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มอาชีพ เป็นต้น และเมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงสงบลงเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้ถอนตัวออกไปจากพื้นที่ ส่งผลให้ชุมชนไม่สามารถบริหารจัดการกลุ่มหรือองค์กรของตนเนื่องจากขาดความรู้ด้านการบริหารจัดการ ต่างกลุ่มต่างมองปัญหาเฉพาะของตน และ ขาดการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อ ขับเคลื่อนงานพัฒนาเชิงบูรณาการ นายอุทัย บุญดำ ได้ชักชวนแกนนำที่ออกจากป่ามาด้วยกัน และ ผู้นำชุมช นร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และผลักดันให้แต่ละกลุ่มแต่ละชุมชนเลิกมองปัญหาเฉพาะส่วนและหันมามามองปัญหาร่วมโดยใช้พื้นที่ตำบลเป็นตัวตั้ง ทำให้เห็นว่าปัญหาร่วมของชุมชนมี ๓ ประเด็นคือ การบริหารจัดการกลุ่มหรือองค์กรชุมชนโดยเฉพาะกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต การพัฒนาอาชีพ และปัญหาที่ทำกินที่ซ้อนทับกับอุทยานแห่งชาติ
นายอุทัย บุญดำ ได้พัฒนาโครงสร้างศูนย์เรียนรู้เครือข่ายสินธุ์แพรทองในลักษณะกระจายอำนาจ และเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมโดยการตั้งคณะกรรมการเฉพาะประเด็น และกรรมการต้องคัดเลือกประธานของตนเป็นผู้บริหารจัดการและขับเคลื่อนงานในประเด็นที่รับผิดชอบ การทำงานของคณะกรรมการเล็กๆ ที่แทบมองไม่เห็นตัว เคลื่อนไหวงานอย่างสะดวก รวดเร็ว และสอดคล้องกับวิถีของชุมชน สำหรับนายอุทัย บุญดำ เป็นเพียงประธานฝ่ายบริหารศูนย์เพียงตำแหน่งเดียว รับผิดชอบในการประสานงานกับหน่วยงานหรือองค์กรภายนอก โครงสร้างดังกล่าวนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการดำเนินงานของเครือข่ายในการแก้ปัญหาร่วมของพื้นที่ทั้งสามประเด็น และพัฒนาชุมชนเข้าสู่วิสัยทัศน์ของศูนย์ที่ได้กำหนดไว้ว่า “คนมีคุณภาพ มีคุณธรรม เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ตามเศรษฐกิจพอเพียง”
ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา นายอุทัย บุญดำ ได้ช่วยให้ชาวบ้านได้ที่ดินทำกินคืนจากรัฐ จำนวน ๒๑๗ แปลง ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ในชุมชน จำนวน ๑๒ ศูนย์ ในกระจายอยู่ในตำบล จำนวน ๒๐ ศูนย์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในตำบลจำนวน ๗ กลุ่ม พัฒนากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จำนวน ๙ กลุ่ม และเครือข่ายการท่องเที่ยวครอบคลุมทั้ง ๔ ตำบลในอำเภอศรีนครินทร์ มีบ้านพักเข้าร่วมโครงการ จำนวน ๕๐ หลัง จุดจำหน่ายสินค้าชุมชน จำนวน ๔ แห่ง จากประการณ์ในการทำงานด้านเครือข่ายที่ผ่านมา นายอุทัย บุญดำ ได้สรุปออกมาเป็นความรู้ใหม่ที่ชัดเจนว่า
“ การทำงานเครือข่ายให้ประสบความสำเร็จนั้น ต้องทำให้มองไม่เห็นเครือข่ายหรือเสมือนไม่มีเครือข่าย ”
ทุกวันนี้ ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายสินธุ์แพรทองเป็นที่ศึกษาดูงานของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเป็นที่ฝึกงานของนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ รวมทั้งศูนย์แห่งนี้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมงานกับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และสถาบันการศึกษาหลายแห่ง
ผลจากการทำงานพัฒนาและแก้ปัญหาชุมชนและท้องถิ่น ส่งผลให้นายอุทัย บุญดำ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากหน่วยงานและสถาบันการศึกษา เช่น ได้รับโล่เกียรติคุณจากกรมวิชาการเกษตรในฐานะผู้สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาการผลิตพืช ประจำปี ๒๕๕๒ ได้รับการคัดเลือกเป็นบุคลากรผู้อุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นเนื่องในโอกาสวันมหิดล ประจำปี ๒๕๕๖ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และรางวัลปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย ประจำปี ๒๕๖๐