พระครูสุจิณนันทกิจ เดิมชื่อ สมคิด จันอ้น เกิดเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๐๖ ในครอบครัวเกษตรกรยากจนทำให้ท่านได้เรียนรู้การต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดตั้งแต่เยาว์วัย ช่วยเหลือตัวเองมาโดยตลอด บ้างก็อาศัยข้าวก้นบาตรพระประทังชีวิตจนเรียนจบชั้นประถมต้นแล้วไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ เพราะทางบ้านไม่มีเงินส่งเสียให้เรียน จำเป็นต้องออกมาช่วยบิดามารดาทำไร่ทำสวน
พระครูสุจิณนันทกิจ ในวัยเด็กมีจริตทำวัตรสวดมนต์ เช้า-เย็น กับหล่วงพ่อที่วัดในหมู่บ้าน ต่อมาได้บวชเป็นสามเณรในปี ๒๕๒๐ ระหว่างเป็นสามเณรสามารถสอบนักธรรมชั้นเอกได้ พร้อมเรียนรู้ตำรายาสมุนไพรจากการเก็บพืชสมุนไพรในป่าให้หลวงพ่อจนมีความรู้เกี่ยวกับชนิดต้นไม้อย่างดี ต่อมาได้เรียนหนังสือต่อโดยคิดว่า “ถ้าเราเรียนจบมัธยมเป็นคนแรกของหมู่บ้านน่าจะดี” ด้วยความที่ใฝ่เรียนรู้จึงได้เรียนจบถึงระดับปริญญาตรี
พระครูสุจิณนันทกิจ เป็นพระนักพัฒนาเมืองน่านมาโดยตลอด จนได้เป็นเจ้าอาวาสวัดโป่งคำท่านก็ไม่หยุดการพัฒนาเพื่อให้ชุมชนได้กินดีอยู่ดี มีความมั่นคงในการเลี้ยงชีพ ท่านมองเห็นปัญหาของชุมชนที่เกิดขึ้น และพยายามให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ แสวงหาทางออกให้กับชุมชน ต่อมาท่านได้ก่อตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนบ้านโป่งคำ” อาศัยภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนมาพัฒนาชุมชนโดยจัดตั้งเป็นกลุ่มต่าง ๆ อาทิ กลุ่มย้อมผ้าพื้นเมืองด้วยสีธรรมชาติกว่า ๑๒๐ สี กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนโป่งคำด้วยการบวชป่าได้เป็นแสนไร่
ท่านเป็นพระนักพัฒนาชุมชนที่สามารถกระตุ้นให้คนในชุมชนสำนึกรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ท่านได้ประสานการทำงานกับหน่วยงานอื่น ๆ จนกระทั่งได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการนโยบายและสังคมแห่งชาติ และสถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์
ท่านได้ทำให้ชาวบ้านในชุมชนบ้านโป่งคำน้อมนำพระราชดำรัสหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติในวิถีชีวิตแบบชุมชนพอเพียง ท่านได้เปิดศูนย์เรียน “มหาวิทยาลัยชีวิต” ขึ้นในวัด เพื่อพัฒนาบุคลากรในชุมชนเขตอำเภอสันติสุขให้เป็นแกนนำในการขยายการพัฒนาต่อไป
พระครูสุจิณนันทกิจ ได้ร่วมทำกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้ฐานคำว่า มหาวิทยาลัยชีวิต เปิดรับสมัครนักศึกษา ทำการสอนโดยไม่ได้อยู่แต่ห้องเรียน หากที่ไหนเป็นสถานที่เชื่อมโยงเครือข่ายในเรื่องดิน น้ำ ป่า เกษตรผสมผสาน ก็จะพานักศึกษาเข้าไปจัดกิจกรรมที่นั่น ท่านให้เหตุผลว่า “จะทำให้ผู้เรียนไม่เครียด และมีความสุขกับการเรียน” เช่น
“ถ้าเราสนใจเรื่องข้าว เราพาเขาไปแปลงข้าว เขาจะถามว่า ข้าวพันธุ์อะไร วิธีปลูกแบบไหน ช่วงไหน ฤดูไหน กี่วันถึงจะโต ออกรวงมารวงหนึ่งมีกี่เม็ด ซึ่งเป็นเรื่องของการศึกษาทั้งนั้น ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตผู้เรียนดีขึ้น แต่ต้องไม่ลืมวางแผนชีวิตและลงมือทำ”
ในปี ๒๕๓๘ พระครูสุจิณนันทกิจ ได้รับโล่รางวัลผู้สนับสนุนการศึกษานอกโรงเรียนดีเด่น จากกรมการศึกษานอกโรงเรียน ปี ๒๕๓๙ รับโล่รางวัลศูนย์การเรียนดีเด่นภาคเหนือ ปี ๒๕๔๕ รับการยกย่องเป็นครูภูมิปัญญาไทย ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี และปี ๒๕๔๗ ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว เป็นรางวัลของคนทำงานที่คืนป่าให้ธรรมชาติ คืนวัดให้ชุมชน คืนชีวิตให้ชาวบ้าน
พระครูสุจิณนันทกิจ เป็นประธานคณะกรรมการศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชนน่าน-แพร่ ที่ปรึกษาในกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมจัดทำแผนงานที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอน และสถานที่เรียนของนักศึกษาด้วย