นายสุชล สุขเกษม เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๐๔ ณ บ้านสารภี หมู่ที่ ๗ ต.จอมปลวก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ในครอบครัวเกษตรกร เป็นบุตรนายบัวและนางสวงค์ สุขเกษม ภรรยาชื่อนางรุ่งกานดา สุขเกษม มีบุตร ๒ คน เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ และได้รับปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการจัดการอุตสาหกรรมชุมชน จากมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ทำอาชีพเกษตรกรรมสร้างสรรค์ตาม แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง สามารถทำ ๑ ไร่ มีรายได้ปีละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท เป็นผู้นำในการก่อตั้ง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านสารภี เป็นประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและศูนย์เรียนรู้พลังงานทดแทน บ้านสารภี ซึ่งมีฐานการเรียนรู้มากถึง ๒๖ เรื่อง
นายสุชลเป็นผู้ก้าวผ่านการผจญภัยของชีวิตมามาก นับตั้งแต่หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ไปทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯนานถึง ๑๐ ปี เริ่มจากการเป็นลูกจ้างรดน้ำกล้วยไม้ที่หนองแขม พัฒนาตัวเองไปเป็นลูกจ้างทำเข็มขัดหนังกระเป๋าหนังและเครื่องครัวสแตนเลสตราหัวเสือที่ภาษีเจริญ
หลังจากนั้นนายสุชลกลับบ้านเกิดเพื่ออุปสมบททดแทนพระคุณบิดามารดาและแต่งงาน โดยบิดายกที่ดินให้ปลูกบ้าน ๑๐๐ ตารางวา และยึดอาชีพเกษตรกร โดยขอเช่าที่ดินของบิดา ๑ ไร่ เพื่อใช้ทำกินในปี ๒๕๓๐ จ่ายค่าเช่าเดือนละ ๓๐๐ บาท เลี้ยงปลาช่อนในร่องสวน เลี้ยงไก่ในกรงตับ ทำเห็ดหูหนู เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง ทำอยู่ ๒ ปี เป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ (ธกส.) ๔๐๐,๐๐๐ บาทเศษ ไม่สามารถจะใช้หนี้ได้ทันกำหนด ต้องไปทำงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบียนานถึง ๘ ปี สามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้ และเดินทางกลับบ้าน เมื่อปี ๒๕๔๐ พร้อมกับเกียรติคุณบัตรเป็นผู้ชำนาญการช่างเชื่อมและช่างประกอบ โดยมีเงินเหลือติดตัว ๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งบังเอิญเป็นปีที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรงพอดี กิจการและโรงงานหลายแห่งต้องปิดกิจการ มีคนตกงานมากมาย ส่วนนายสุชลก็อยู่ในสภาพตกงานเช่นเดียวกัน ต้องดำเนินชีวิตด้วยการไม่เลือกงานทำเพื่อให้มีรายได้มาจุนเจือ รวมถึงงานที่เพื่อน ๆ มาชวนให้ไปช่วยเหลือพระถือปิ่นโตบิณฑบาต ซึ่งนายสุชลกล่าวอย่างมีอารมณ์ขันว่า “ตอนนั้นไปเป็นนักบินเดินถนนก็ทำได้หมด” นับเป็นช่วงเวลาของชีวิตที่ยากลำบาก
ปี ๒๕๔๗ ในพื้นที่ ๑ ไร่ ที่บิดาเคยให้เช่าทำกินนั้นกลายมาเป็นการยกให้ไม่ต้องเช่าอีกต่อไป เป็น สวนมะพร้าวที่มีต้นสูงมาก ถ้าทำต่อไปจะได้เงินไม่เกินเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท ไม่พอกินพอใช้ภายในครอบครัว แต่ฉุกคิดได้ว่าในสมัยทำงานอยู่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียได้อ่านหนังสือโครงการพระราชดำริที่ตีพิมพ์เผยแผ่ ไปทั่วโลกบอกว่าที่ดิน ๑ ไร่ สามารถทำให้มีรายได้ถึงปีละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งคิดว่าจะทำให้อยู่ได้สบายแล้ว
นายสุชลได้ไปเรียนรู้เรื่องดินตามแนวพระราชดำริกับนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร (ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ) หรืออาจารย์ยักษ์ที่มาบเอื้องชลบุรี บอกว่า “ถ้าดินไม่ได้ก็ไม่ต้องปลูกพืช จะเสียพันธุ์พืชเปล่า ๆ ถ้าดินตรงไหนปลูกไม่ได้ขอให้บอก เดี๋ยวจะไปทำให้ดู” ชาวบ้านคนหนึ่งลุกขึ้นถามเลยว่า “ขอโทษนะ ที่ท่านบรรยายมาทั้งหมดนี้ ท่านได้ทำมาแล้วหรือยัง” อาจารย์ยักษ์บอกว่า “คำถามนี้ทำให้ไฟลุกตั้งแต่เท้ายันหัวเลย” เพราะยังไม่เคยทำ และต้องขอลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาของพระองค์ท่าน เพื่อไป ลงมือทำเองที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จนตราบเท่าทุกวันนี้
นายสุชลในช่วงที่เป็นสมาชิกอบต. ๓ สมัย ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานโครงการพระราชดำริทั่วประเทศ ยกเว้นในเขต ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้ทำการประมวลความรู้ทั้งหมดที่ได้รับมาสร้างสรรค์พัฒนาต่อยอดเพื่อปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของตนเองอย่างจริงจัง เริ่มจากการตัดต้นมะพร้าวในสวนทิ้งทั้งหมด ทำการเปิดหน้าดิน เอาขี้ไก่มาวาง นำต้นปอเทืองมาปลูกและสับทำเป็นปุ๋ยทำให้ดินดีและร่วนซุยแต่ใช้ปลูกผักได้เท่านั้นยังใช้ปลูกผลไม้ไม่ได้ จึงคิดวิเคราะห์ต่อจนพบว่าต้นข้าวโพดมีรากลึกลงไปในดิน ๑๕-๒๐ เซนติเมตร จะเป็นรูที่ทำให้อากาศออกซิเจนผ่านลงดินได้ จึงปลูกข้าวโพดเต็มพื้นที่เลย พอข้าวโพดหมดดอกก็สับหมด ทั้งต้นทั้งใบเอาน้ำรดทิ้งไว้ ๑ เดือน กลายเป็นสวนที่พร้อมจะปลูกพืชได้ทุกชนิด และพระองค์ท่านทรงสอน ไว้ว่า “ให้ปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก” แต่ปัญหามีว่าจะทำอย่างไร พอลงลึกไปอีกพระองค์ท่านทรงสอนว่า “ให้ปลูกพืชเป็นขั้นบันได” แต่จะทำอย่างไรในพื้นที่ของเรา จึงนำมาคิดต่อจนค้นพบว่า คือการปลูกพืชที่ต้นเตี้ย ๆ ทางด้านทิศตะวันออก ส่วนพืชที่มีต้นสูงปลูกไว้ทางด้านทิศตะวันตก ปลูกไล่เรียงกัน เป็นขั้นบันได และต้องปลูกพืชที่ทำให้มีรายได้รายวัน รายเดือน และรายปี
นายสุชลกล่าวว่า “มะลิที่หลายคนมองข้ามทำรายได้รายวันที่ดีมาก ต้นเตี้ยเก็บดอกง่าย เอามาปลูกเต็มพื้นที่ เคยเก็บดอกได้มากถึงวันละ ๕ กิโล ขายกิโลละ ๑๐๐ บาท และพระองค์ท่านสอนว่าการปลูกพืชให้เลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไปด้วย จึงเลี้ยงไก่ไข่ ขายไข่ได้ฟองละ ๓ บาท มีรายได้จากไข่วันละ ๕๐๐-๘๐๐ บาท”
ในปี ๒๕๕๐-๒๕๕๑ มะลิออกดอกสะพรั่งทั่วไปหมด ทำให้ราคาตกเหลือกิโลกรัมละ ๕๐ บาท ซึ่งพระองค์ท่านทรงสอนไว้ว่าเราต้องยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลง จึงปลูกมะพร้าวน้ำหอมแซม แต่มะลิจบชีวิต เพราะถูกใบมะพร้าวคลุมทำให้มะลิไม่โดนแดด จึงทำให้ไม่มีดอกไม่สร้างรายได้
ปี ๒๕๕๒ นายสุชลไปศึกษาดูงานการเลี้ยงหมูในหลุมจะได้ปุ๋ยขี้หมูที่สุพรรณบุรี แต่คิดแล้วไม่สามารถนำมาใช้ที่บ้านสารภีได้ เพราะพื้นที่เป็นร่องสวนหากหมูตกน้ำเอาขึ้นไม่ไหว ขี้หมูยังมีกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านและไม่สร้างรายได้รายวัน จึงเปลี่ยนมาใช้การเลี้ยงไก่ซึ่งมีนิสัยชอบคุ้ยเขี่ยเลยใส่ขุยมะพร้าวสับและแกลบดิบ ไก่ก็คลุกเคล้าให้จนกลายเป็นปุ๋ย และไก่ยังมีไข่ให้อีก ๓๒๐-๓๓๐ ฟองต่อหนึ่งชีวิต วงจรไก่หลุมจะอยู่ได้ถึง ๓ ปี พอไข่หมดก็ขายไก่ แล้วนำชุดใหม่มาเลี้ยงแทนวนเวียนกันไป
ปลายปี ๒๕๕๒ นำไก่มาเลี้ยงใส่ตะกร้าเอาไปแขวนกับต้นมะพร้าว ขี้ไก่กลายเป็นปุ๋ย ไก่สบายอยู่ในตะกร้าหมุนได้รอบตัว อากาศถ่ายเทดี ทำให้ไก่มีความสุข ไข่ที่ได้จะมีคุณภาพดีตามไปด้วย “คนที่มาดูงาน บางคนไม่เข้าใจหาว่าทรมานไก่แต่บางคนตีโจทก์ผมแตกหมดเลย ถามผมว่าไปเรียนการวิจัยมาจากไหน ผมตอบว่าเรียนด้วยตนเองจากการดูสิ่งที่คนอื่นเขาทำดีไว้แล้วเอามาคิดต่อทำให้เหมาะสมกับตัวเอง”
ในสวนสารภีเพียง ๑ ไร่มีเรื่องราวดี ๆ อีกมาก เช่น การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามใส่ตะกร้าขังเดี่ยวในร่องสวน เพื่อแก้ปัญหากุ้งตัวโตลอกคราบแล้วจะกินกันเอง ขายได้กิโลกรัมละ ๕๐๐-๘๐๐ บาท การเลี้ยงชันโรงให้ผสมเกสรผลไม้ ทำได้ดีกว่าผึ้ง และยังมีน้ำหวานให้ขายได้สูงถึงขวดละ ๑,๕๐๐ บาท เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระ การทำแก๊สชีวมวลใช้เองจากมูลไก่ การทำไข่เค็มกระเพราและไข่เค็มต้มยำขายดีฟองละ ๘ บาท ทำพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซล่าเซลใช้กับตู้อบของสด ชาร์จโทรศัพท์ ใช้ไฟฟ้าปราบแมลงดำหนามที่เข้ามากิน ยอดมะพร้าวและแมลงอื่น ๆ ดัดแปลงจักรยานต่อเข้ากับมอเตอร์ไฟฟ้าใช้ถีบน้ำรดต้นไม้ และมีเตาซุปเปอร์อั้งโล่ประดิษฐ์ให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า ทำให้สามารถตั้งหม้อขนาดใดก็ได้ เป็นต้น
นายสุชลกล่าวว่าหัวใจของการทำเกษตรแบบพอเพียงต้องอยู่บนฐานคิดของการประหยัด ต้องใช้ ทุกอย่างในพื้นที่ทำให้เกิดประโยชน์โดยไม่มีการทิ้ง เช่น กรณีการเลี้ยงไก่ไข่ต้องได้มากกว่าไก่และไข่ คือต้อง ได้แก๊ส ได้ปุ๋ย ได้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ และปุ๋ยอัดแท่ง เป็นแนวคิดให้ใช้ชีวิตแบบครบวงจร ทั้งคน พืช และสัตว์
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับแนวคิดที่จะสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในท้องถิ่นได้ดีที่สุด ควรนำทรัพยากรที่โดดเด่นของท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูป เช่น กล้วยหักมุกปกติขายส่งได้ร้อยละ ๔๐ บาท หรือลูกละ ๔๐ สตางค์ แต่ถ้านำไปทำกล้วยฉาบจะได้ถึงลูกละ ๕ บาท พอทำขายได้ดี จะทำให้ชาวบ้านกระตือรือร้น มีกำลังใจ และทุ่มเทกันอย่างเต็มที่ เช่น ชาวบ้านสารภีมีแนวคิดนำสาเก เผือกและมันสำปะหลังเอามาทอดกรอบและแปรรูปได้อีกหลายอย่าง จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนบ้านสารภี
นายสุชลกล่าวว่าโครงการตามพระราชดำริของพระองค์ท่านมีมาก ต้องเลือกทำในเรื่องที่พอจะทำได้เท่านั้น จึงเลือกทำเพียง ๓ โครงการได้แก่ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง พลังงานทดแทนและการดูแลสุขภาพชุมชน และเพิ่มเรื่องการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
นายสุชลได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ ในปี ๒๕๕๕ ได้แก่ รางวัลที่ ๑ ระดับประเทศประเภทภูมิปัญญา จากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กระทรวงศึกษาธิการ รางวัลเกียรติยศดีเด่นในการพัฒนาสร้างความเข้มแข็ง จาก ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และรางวัลอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านดีเด่นระดับเขต สาขาการจัดการสุขภาพชุมชน จากกระทรวงสาธารณสุข ปี ๒๕๕๘ รางวัลอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านดีเด่นระดับภาคกลาง สาขาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จากกระทรวงสาธารณสุข ปี ๒๕๖๐ ได้แก่ รางวัลคนดีแทนคุณแผ่นดิน จังหวัดสมุทรสงคราม และรางวัลผู้มีผลงานดีเด่นสาขาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จากมูลนิธิสมาน-คุณหญิงเบญจา แสงมลิ
นายสุชลให้ความร่วมมือกับสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนในการให้ใช้สถานที่เป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานและเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักศึกษาของสถาบันทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทอย่างดียิ่ง ตลอดมา