Mon. Dec 9th, 2024
    IMG_5132 (Small)

    ห้องสมุดและสารสนเทศ
             เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2554 มีที่ตั้งอยู่ที่อาคาร A มีเนื้อที่ 886.2 ตารางเมตร และได้เปลี่ยนชื่ออาคาร A เป็น อาคารหอสมุดวิบูลย์เข็มเฉลิม เมื่อเดือน มิถุนายน 2555 เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ นายวิบูลย์ เข็มเฉลิม “อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยหิน ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ที่ทำการเกษตรแบบพออยู่พอกินในครอบครัว ปลูกกินเป็นหลัก เหลือกินแล้วจึงขายส่วนเกิน โดยใช้พื้นที่ 9 ไร่ ปลูกทั้งพืชที่กินได้ ผลไม้ ไม้ใช้สอย ไม้ยืนต้น และสมุนไพร จนพื้นที่ซึ่งเคยโล่งเตียนเพราะเป็นไร่มันสำปะหลัง 

          กลายเป็นป่าขึ้นมาใหม่ ท่านเรียกสิ่งที่ทำว่า “วนเกษตร”   เพราะทำกินอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ พร้อมไปกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังส่งผลให้มีสวัสดิการมั่นคงแก่ครอบครัวมีเกษตรกร นักพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐไปดูงานที่บ้านท่านนับแสนคนในรอบ 30 กว่าปีที่ผ่านมา นับว่าท่านเป็น “ปัญญาชนชาวบ้าน” ที่เป็นนักเรียนรู้ และเป็นผู้นำท้องถิ่นที่ดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างของคนที่ยืนหยัดพึ่งตนเองอย่างเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ

    e-library

    ห้องสมุดดิจิตอล (Digital Library)
             สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน เป็นสถาบันอุดมศึกษาทางเลือกของปวงชน มีเป้าประสงค์ดำเนินงานการศึกษาเพื่อท้องถิ่น โดยมีผู้เรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือผู้ขาดโอกาสทางการศึกษาที่อยู่ในท้องถิ่นจังหวัดต่างๆ และในชนบทห่างไกลมีแนวทางจัดการเรียนการสอนด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้ ระหว่างผู้เรียนกับผู้รู้กับแหล่งเรียนรู้กับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นและกับรากเหง้าของสังคมชุมชนรวมทั้งเชื่อมโยงการเรียนรู้ระหว่างท้องถิ่นทั้งในระดับจังหวัดและระดับภูมิภาค เพื่อผนึกพลังการจัดการความรู้ ภูมิปัญญา และทรัพยากรให้เกิดผลสร้างสรรค์ความมั่นคงเข้มแข็งต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น และเพื่อประยุกต์ใช้ในการพัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ และการบริหารจัดการ ด้วยเจตนารมณ์ที่จะหลอมรวมการศึกษากับการพัฒนาให้เป็นเรื่องเดียวกัน
             ห้องสมุดและสารสนเทศ มุ่งสร้างสรรค์บทบาทเพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ด้วยการพัฒนาระบบ “ดิจิตอล” ให้เป็นกลไกเชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้ ระหว่างนักศึกษาของสถาบันในศูนย์ประสานงานประจำจังหวัด ซึ่งสังกัดศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชนในทุกภูมิภาค ให้สามารถบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกันอย่างไร้พรมแดน สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประสบการณ์ต่อประสบการณ์ โครงงานต่อโครงงาน แหล่งเรียนรู้ต่อแหล่งเรียนรู้ ในทุกรายวิชา ขจัดปัญหาระยะทาง ความห่างไกล มิให้เป็นข้อจำกัดในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกต่อไป และมุ่งให้ห้องสมุดดิจิตอลเป็นศูนย์กลางเครือข่ายการเรียนรู้ ที่กว้างไกลไม่รู้จบ ถึงแม้ว่าศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชน และศูนย์ประสานงานประจำจังหวัด จะขยายจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศมากเพียงใดก็ตาม

                ห้องสมุดดิจิตอล ประกอบด้วยข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ เครือข่ายมหาวิทยาลัยชีวิต จากเหนือจดใต้ ตะวันออกจดตะวันตก เพื่อประโยชน์ของผู้เรียนในการสื่อสารสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายนำไปสู่การ
    บูรณาการกิจกรรมร่วมกัน   ทั้งในด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ สื่อเสริมการเรียนรู้ ซึ่งรวบรวมและถ่ายทอดคำสอนของผู้รู้ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมา ปัญหา อุปสรรค และผลสัมฤทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตดีขึ้นของผู้เรียน และยังประกอบด้วยความรู้ในรูปแบบ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ จากโครงงานในการเรียนรู้จักตนเองของผู้เรียนเพื่อกลับคืนสู่รากเหง้าที่หยั่งลึกและแข็งแกร่งแห่งภูมิปัญญาในการจัดการความรู้และทรัพยากรของ บรรพชน กลับคืนสู่ความเชื่อมั่นต่อตนเองและพึ่งตนเองได้ ความรู้ในรูปแบบ แหล่งสารสนเทศเสริมการเรียนรู้ เพื่อการเรียน รู้จักสังคม ที่ขมขื่นด้วยบทเรียนทางประวัติศาสตร์ จากการพัฒนาที่ผิดพลาดและล้มเหลวของประเทศไทยในกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เพื่อก้าวไปสู่การเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่พึ่งตนเองได้อย่างเข้มแข็งตามแนวคิดวิสาหกิจชุมชน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ ห้องสมุดดิจิตอลยังเป็น แหล่งสืบค้นข้อมูลความรู้ เพื่อการเรียน รู้จักโลก ในยุคโลกาภิวัฒน์ เพื่อความรู้เท่าทัน และสามารถยืนหยัดอยู่ในโลกได้บนฐานคิดและรากเหง้าของตนเอง
             ด้วยระบบที่เชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้ดังกล่าวมา ห้องสมุดดิจิตอล จึงเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญของงานวิจัยและพัฒนา ของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ในการพัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ และการบริหารจัดการ ให้บรรลุผลตามมาตรฐานคุณภาพอุดมศึกษา และเชื่อมโยงให้เกิดผลสำเร็จในการสร้างสรรค์ความมั่นคงเข้มแข็งต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นสมตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ บนฐานคิด “เครือข่ายสร้างการเรียนรู้ การเรียนรู้สร้างเครือข่าย”