นายโกวิทย์ ดอกไม้ เกิดที่จังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ปัจจุบันตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เลขที่ ๑๓๕ หมู่ที่ ๑๕ ตำบลศรีวิเชียร อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เข้ารับราชการครูครั้งแรก และทำงานที่โรงเรียนน้ำยืนวิทยาจนกระทั่งเกษียณอายุราชการ สำเร็จการศึกษาระดับครุศาสตรบัณฑิต วิชาเอกฟิสิกส์ วิชาโทคณิตศาสตร์ จากวิทยาลัยครูอุบลราชธานี และระดับครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
นายโกวิทย์ ดอกไม้ เป็นผู้ใฝ่ใจในการศึกษาหาความรู้ และความรู้ที่ได้นั้นไม่เพียงแต่นำมาสอนนักเรียนในโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังเผื่อแผ่ไปถึงผู้ปกครองนักเรียนและชาวบ้านทั่วไปในชุมชนซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นควบคู่กันไป
การอ่านหนังชื่อ การปฏิวัติยุคสมัยดด้วยฟางเส้นเดียว ของมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นที่หันมาทำนาด้วยวิธีทางธรรมชาติ ได้จุดประกายทางความคิดที่จะนำมาใช้ทำการเกษตรในโรงเรียนและชุมชน เพื่อช่วยเหลือลูกศิษย์ที่ทิ้งแผ่นดินไปหางานทำ ในเมืองใหญ่ และช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนที่มีปัญหาหนี้สินและปัญหาสุขภาพจากการทำเกษตรที่พึ่งพาปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร ประกายความคิดนี้ ได้เปลี่ยนเส้นทางชีวิตของนายโกวิทย์ ดอกไม้ จากครูที่กำลังจะก้าวสู่ผู้บริหารสถานศึกษามาเป็นครูสอนวิชาเกษตร หลังจากใช้เวลาทดลอง ๔-๕ ปี พบว่าเกษตรธรรมชาติตามแนวของฟูกูโอกะยังไม่ตอบโจทย์ที่ตั้งไว้เท่าที่ควร จึงได้หันไปสนใจงานของเทรูโอะ ฮิหงะ นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นที่เชื่อว่า “ดินมีชีวิต” และได้นำจุลินทรีย์หรืออีเอ็มที่มีประสิทธิภาพสูงมาใช้ในการเกษตร นายโกวิทย์ ดอกไม้ จึงได้เข้าฝึกอบรมเรื่องนี้ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา และต่อมาได้เป็นผู้ช่วยวิทยากรให้กับเทรูโอะ ฮิหงะ ซึ่งเดินทางมาบรรยายเรื่องจุลินทรีย์หรืออีเอ็มประสิทธิภาพสูงในประเทศไทยเป็นประจำทุกปีในช่วง พ.ศ. ๒๕๓๖-๒๕๔๒
นายโกวิทย์ ดอกไม้ เป็นผู้ที่นิยมการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ลงมือทดลองทำด้วยตนเอง และผลจากการปฏิบัติทำให้ค้นพบ “น้ำหมักอีเอ็ม”หลากหลายสูตร นำไปสอนนักเรียน ผู้ปกครองและชาวบ้านทั่วไปในชุมชนจนสามารถเปลี่ยนเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งในพื้นที่อำเภอน้ำยืนและใกล้เคียง นอกจากด้านการเกษตรแล้ว น้ำหมักอีเอ็มของนายโกวิทย์ ดอกไม้ สามารถนำไปใช้ป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ที่ระบาดในวัวควายในช่วงที่เพิ่งผ่านมา จนน้ำหมักอีเอ็มที่นำมาใช้นี้ได้ชื่อว่าน้ำหมักพิทักษ์โลก
นอกจากการสร้างความรู้เกี่ยวกับจุลินทรีย์หรืออีเอ็มประสิทธิภาพสูงแล้ว นายโกวิทย์ ดอกไม้ ได้สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับการเก็บน้ำใต้ดินจากพระนิเทศศาสนคุณ (หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ) วัดอาฮงศิลาวาส อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ และลงมือปฏิบัติตามแนวทางที่หลวงพ่อถ่ายทอดให้ ต่อมา นายโกวิทย์ ดอกไม้ ได้บัญญัติศัพท์คำว่า “ธนาคารน้ำใต้ดิน” และ Groundwater bank ใช้แทนคำว่าการเก็บน้ำใต้ดิน นอกจากการปฏิบัติตามแนวทางของหลวงพ่อแล้ว นายโกวิทย์ ดอกไม้ ยังได้ค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับการไหลของน้ำใต้ดิน และสามารถออกแบบธนคารน้ำใต้ดินให้สอดคล้องกับธรรมชาติการไหลของน้ำ และได้นำแผนที่จาก Google earth มาใช้กำหนดตำแหน่งของธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด รวมทั้งนำความรู้เรื่องจุลินทรีย์มาใช้กับธนาคารน้ำดินระบบปิดโดยการนำจุลินทรีย์ที่คิดค้นขึ้นมาผสมกับคอนกรีตเป็นจุลินทรีย์ก้อนสำหรับรองก้นหลุมธนาคารน้ำ เพื่อให้จุลินทรีย์กำจัดสิ่งสกปรกทั้งหลายในน้ำก่อนที่จะซึมผ่านลงดิน การพัฒนาธนาคารน้ำทั้งสองประเภทนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าจะช่วยให้ชุมชนหรือพื้นที่สามารถ“แก้แล้ง แก้ท่วม แก้น้ำขาด แก้น้ำเสีย น้ำใต้ดินสะอาดดื่มได้” อันเป็นเจตนารมณ์ของเจตนารมณ์ของหลวงพ่อสมานให้ยั่งยืนสืบไป
นายโกวิทย์ ดอกไม้ เป็นผู้ทุ่มเทและเสียสละในการเป็นวิทยากรจิตอาสาโดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นถ่ายทอดความรู้และร่วมลงมือปฏิบัติโดยไม่เรียกร้องค่าตอบแทนใดๆ ในช่วง ๒๐ ปีมานี้ ผู้ผ่านการอบรมจุลินทรีย์หรืออีเอ็มประสิทธิภาพสูง ไม่น้อยกว่า ๕ ล้านคน และแนวคิดธนาคารน้ำใต้ดินแพร่หลายออกไปในวงกว้าง โดยมีพื้นที่ต้นแบบธนาคารใต้ดินทั้งระบบปิดและระบบเปิดครอบคลุมทุกภาคเพื่อผู้สนใจเรียนรู้และขยายผลต่อไป รวมทั้งนำประสบการณ์และความรู้ของตนจัดทำคลิปและเผยแพรผ่านยูทูปไม่น้อยกว่า ๖๐๐ คลิป