Sat. Jul 27th, 2024

    วิบูลย์ เข็มเฉลิม

    ต้นแบบการพึ่งตนเอง

               ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เกิดที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๔๗๙ พ่อเป็นหมอยา แม่ทำนา ตนเองเรียนจบประถมปีที่ ๔ เข้ามาทำงานกรุงเทพฯ และเรียนจนจบมัธยมปีที่ ๖ พออายุ ๒๐ ปีกลับมาบวชที่บ้านจนสอบได้นักธรรมตรี พอสึกออกมาก็เข้ากรุงเทพฯ ทำงานเป็นลูกจ้างและเป็นแกนนำประท้วงการทำงานวันหยุดจนทำให้มีการแก้ไขกฎเกณฑ์กันใหม่ ต่อมาได้กลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ จ. ฉะเชิงเทรา

                ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เป็นเกษตรกรที่กู้เงินธนาคารมาลงทุนปลูกพืชเศรษฐกิจ  เมื่อราคาผลผลิตตกต่ำก็ร่วมกับเกษตรกรเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคา  การต่อสู้เรียกร้องที่ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง  ทำให้ผู้ใหญ่วิบูลย์ได้เรียนรู้ว่า  แม้จะได้ราคาประกันตามที่ต้องการแล้วก็ใช่ว่าจะขายได้ง่ายๆ แถมคนที่ได้ประโยชน์ด้วยทุกครั้งก็คือพ่อค้า  จนกระทั่งวันหนึ่งคิดได้ว่า “เราทำให้คนอื่นกิน แต่ตนเองกลับไม่มีกิน”  และด้วยเหตุนี้  “ถ้าเราทำแต่พอกิน ก็ไม่ต้องไปต่อรองกับใครอีก”  จึงตัดสินใจขายที่ดินกว่า 200 ไร่ เพื่อใช้หนี้ทั้งหมด เริ่มต้นชีวิตใหม่บนที่ดินแปลงสุดท้ายที่เหลืออยู่ 9 ไร่ เลิกการปลูกพืชเศรษฐกิจทุกชนิดโดยเฉพาะพืชส่งออก หันหลังให้ระบบเกษตรสมัยใหม่ มุ่งสู่วิถีชีวิตพึ่งตนเอง

                ผู้ใหญ่วิบูลย์ทำแต่พออยู่พอกินในครอบครัว ปลูกกินเป็นหลัก เหลือกินแล้วจึงค่อยขายส่วนเกินในตลาดท้องถิ่น โดยในพื้นที่ 9 ไร่นั้น ปลูกทั้งพืชที่กินได้ ทั้งไม้ผล ไม้ใช้สอย ไม้ยืนต้น และสมุนไพร จนพื้นที่ซึ่งเคยโล่งเตียนเพราะเป็นไร่มันสำปะหลังมาก่อนกลายเป็นป่าขึ้นมาใหม่ ผู้ใหญ่วิบูลย์เรียกสิ่งที่ทำว่า “วนเกษตร” เพราะทำกินอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติพร้อมไปกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังส่งผลให้มีสวัสดิการมั่นคงแก่ครอบครัว มีเกษตรกร นักพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐไปดูงานที่บ้านท่านนับแสนคนในรอบ ๓๐ กว่าปีที่ผ่านมา      

                 ผู้ใหญ่วิบูลย์กล่าวว่า  “การทำเช่นนี้ไม่ต้องทำงานตามเงื่อนไขที่ผู้อื่นกำหนด…คนที่เป็นไทแก่ตนแล้วจะมีความกล้าหาญมากขึ้น…กล้าพอที่จะเชื่อว่าตนเองอยู่รอดได้โดยไม่ฝากชะตากรรมของตนไว้กับคนอื่น” ชีวิตและงานของท่านจึงเป็นแรงบันดาลใจแก่ประชาชนเรือนหมื่นเรือนแสน ทั้งใกล้และไกลที่ได้รับรู้เรื่องราวชีวิตของท่าน

                ผู้ใหญ่วิบูลย์เป็น “ปัญญาชนชาวบ้าน”  ที่เป็นนักเรียนรู้  และเป็นผู้นำท้องถิ่นที่ดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างของคนที่ยืนหยัดพึ่งตนเองอย่างเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ

                ในปี ๒๕๓๒ ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ได้รับรางวัลคนดีศรีสังคม ปี ๒๕๓๕ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งเอเชียแปซิฟิก ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เป็นสมาชิกวุฒิสภาสายเกษตรกร ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เบญจมาภรณ์ช้างเผือก และในปี ๒๕๕๒ ได้รับพระราชทานรางวัล “ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน” จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

                ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต และสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน รวมทั้งร่วมร่างหลักสูตรสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นฉบับแรก

    สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน จึงเชิดชูเกียรติ 

    วิบูลย์ เข็มเฉลิม

     เป็น “เมธาจารย์มหาวิทยาลัยชีวิต”