Tue. Dec 31st, 2024

    ลัภย์ หนูประดิษฐ์

    นักปฏิรูปสหกรณ์

               นายลัภย์ หนูประดิษฐ์ เกิดที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๗๙ ในครอบครัวเกษตรกรยากจน เมื่อจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ แล้วจึงออกมาทำนา และสวนยางพารา เลี้ยงผึ้ง ปลูกบัว เป็นเกษตรกรที่ใช้ชีวิตแบบพอมีพอกิน ดำรงชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

                นายลัภย์ เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอาชีพและสังคม โดยยึดหลัก ๕ ร่วม ได้แก่ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์ นายลัภย์อุทิศตนช่วยเหลือสมาชิกในชุมชน รณรงค์ให้เกิดการรวมกลุ่มช่วยเหลือซึ่งกันและกันในรูปสหกรณ์ อาทิ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มส่งเสริมสุขภาพ กลุ่มกองทุนยาง กลุ่มปรับปรุงคุณภาพยาง เป็นต้น นายลัภย์เป็นผู้นำในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์การเกษตร จนเติบโตเป็นชุมนุมสหกรณ์การเกษตรระดับจังหวัด     

                นายลัภย์สังเกตพบว่า การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ตามการส่งเสริมของกรมการพัฒนาชุมชน ไม่ได้ผลเพราะหน่วยงานราชการไม่ฝึกให้ชาวบ้านบริหารเงิน ไม่แทรกความรู้ ด้านคุณธรรมจริยธรรมอันเป็นสิ่งสำคัญของการยึดโยงจิตใจในเรื่องการออมทรัพย์ และประการสำคัญคือ หน่วยงานราชการไม่สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในชุมชน

                นายลัภย์จึงใช้ความสามารถเชิงสังคม-วัฒนธรรมของตนชักชวนชาวบ้านให้ตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคลองหวะขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ โดยเริ่มต้นจากสมาชิก    ๔๗ คน รวมเงินทุนแรกเริ่ม ๒,๕๐๐ บาท  กลุ่มดำเนินการควบคุมเงินฝากของสมาชิกปล่อยกู้แก่สมาชิกกำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยให้เงินหมุนเวียนอยู่ภายในกลุ่ม หากสมาชิกต้องการกู้เงินในจำนวนที่น้อยกว่ายอดเงินของตนเอง กลุ่มจะเน้นให้สมาชิกถอนเงินไปลงทุนโดยให้มีเงินคงเหลือในสมุดบัญชีไว้ไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ บาท แล้วสะสมต่อไปทุกๆ เดือนจนมียอดสะสมสูงขึ้นเป็นเงินก้อนโตพอที่จะนำไปขยายกิจการของตนเองได้ ด้วยวิธีการเช่นนี้ทำให้ชาวบ้านคลองหวะไม่เป็นหนี้ และมีเงินทุนในการพัฒนาครอบครัวของตน เป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดของชาวบ้าน 

              การบริหารกลุ่มออมทรัพย์บ้านคลองหวะภายใต้การนำของนายลัภย์ ที่ช่วยให้ชาวบ้านหลุดพ้นจากหนี้สิน ทำให้นายลัภย์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสหกรณ์การเกษตรอำเภอหาดใหญ่ ซึ่งประสบภาวะขาดทุนจากปัญหาการค้างชำระ เงินทุนลดน้อยร่อยหลอลง กระทั่งหยุดชะงัก นายลัภย์นำวิธีการบริหารกลุ่มออมทรัพย์บ้านคลองหวะมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาสหกรณ์การเกษตร โดยให้สมาชิกสะสมเงินคนละเล็กละน้อย เพิ่มจำนวนสมาชิกให้มากขึ้น ให้สมาชิกถอนเงินน้อยครั้งลงเพราะการถอนเงินมีผลกระทบต่อเงินฝาก ให้กู้ระยะสั้นโดยผ่อนส่งทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นเป็นรายเดือน ทำให้สหกรณ์เริ่มมีเงินหมุนเวียนดีขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาการขาดทุน กระทั่งสหกรณ์มีผลกำไรติดต่อกันทุกปี สมาชิกเริ่มได้รับเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนตามแนวทางอุดมการณ์ของสหกรณ์ได้อย่างแท้จริง การพัฒนาระบบสหกรณ์การเกษตรของนายลัภย์จึงกลายเป็นแนวทางให้กับสหกรณ์การเกษตรอื่นๆ ได้ปฏิบัติตามทั่วประเทศ

              วิธีบริหารสหกรณ์การเกษตรของนายลัภย์ได้ผลดี เนื่องมาจากนายลัภย์มีกลวิธีให้สมาชิกได้เรียนรู้ด้วยตนเอง โดยการใช้ระบบสัจจะรายเดือน เพื่อให้สหกรณ์กับสมาชิกได้มีโอกาสพบปะและแก้ปัญหาร่วมกันทุกเดือน โดยในแต่ละหมู่บ้านมีกลุ่มสหกรณ์ในพื้นที่ มีบุคลากรทำงาน ณ ที่ทำการสหกรณ์ทุกแห่งเพื่อให้สามารถดูแลสมาชิกอย่างทั่วถึง ที่สำคัญ คือ มีการเชื่อมโยงและบูรณาการเงิน จิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน ผลกำไรส่วนหนึ่งยังเพียงพอที่จะนำมาสร้างความเจริญให้แก่ส่วนรวม โดยในแต่ละปีมีการหักผลกำไร มาเป็นเงินพัฒนาหมู่บ้านด้านสาธารณูปโภค เช่น ถนน ประปา ไฟฟ้า รวมทั้งการสร้างความเจริญให้กับหมู่บ้านในด้านอื่น ๆ

                การดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรหาดใหญ่ที่นายลัภย์เป็นประธาน เน้นการให้ความรู้แก่สมาชิกเกี่ยวกับความจำเป็นและความสำคัญของสหกรณ์ ทำให้สมาชิกเพิ่มจำนวนขึ้นโดยตลอด กิจการสหกรณ์การเกษตรยั่งยืน เกิดประโยชน์ต่อชุมชนในระยะยาว ผลกำไรจากการดำเนินงานส่วนหนึ่งนำมาจัดเป็นสวัสดิการให้สมาชิก เช่น ค่ารักษาพยาบาล  ฌาปนกิจ ทุนการศึกษา ทุนโครงการอาหารกลางวัน การช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ

                การประสบความสำเร็จของสหกรณ์การเกษตร อ. หาดใหญ่  จนมีเงินออมเป็นพันล้านจากการปิดช่องทางการทุจริตและพัฒนาสหกรณ์จนเติบโต เข้มแข็งและมั่นคง จนเป็นที่ศึกษาดูงานของสหกรณ์การเกษตรจากทั่วประเทศ ตัวนายลัภย์เองได้รับการยอมรับและการรับเชิญไปให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการสหกรณ์ในจัดหวัดต่าง ๆ

                ในปี ๒๕๓๕ นายลัภย์ได้รับรางวัลคนดีศรีสังคม ปี ๒๕๓๖ได้รับรางวัลนักสหกรณ์ดีเด่นภาคใต้ ปี ๒๕๓๘ ได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ โปรแกรมพัฒนาชุมชน จาสถาบันราชภัฏสงขลา ปี๒๕๕๖ ได้รับรางวัลปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปี ๒๕๕๗ ได้รับรางวัลนักสหกรณ์แห่งชาติ

              นายลัภย์  หนูประดิษฐ์ เป็นวิทยากรพิเศษบรรยายแก่นักศึกษา ศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชน จ. สงขลาในวิชากองทุนและสวัสดิการชุมชนวิสาหกิจชุมชน แผนแม่บทชุมชน และเครือข่ายชุมชน

    สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน

    จึงเชิดชูเกียรติ

    นายสมทรง แสงตะวัน

    เป็น “เมธาจารย์มหาวิทยาลัยชีวิต”