Sat. Jul 27th, 2024

    ไอทีเพื่อการศึกษา (IT for Education)

    Module 1: นวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา

    โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม

    รูปแบบการเรียนรู้ (Learning Style)

    “หลังจากดูวิดีโอเรื่อง Learning Style  แล้วให้ท่านทำแบบทดสอบ รูปแบบ Learning Style ของตัวเองค่ะ”

    รูปแบบการเรียนรู้ (Learning Style)

              มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เด็กและเยาวชนที่เกิดมายุคนี้ มีความแตกต่างจากเด็กและเยาวชนในยุคก่อนอย่างชัดเจนในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนจึงต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นสำคัญ รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเลือกวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเอง ทั้งนี้เป็นเพราะความสามารถในการรับรู้ เป็นทักษะเฉพาะบุคคล ที่ขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพ ระสบการณ์ ดังนั้นผู้สอนจะต้องพิจารณารูปแบบการเรียน (Learning Style) ให้เหมาะสมกับผู้เรียนเป็นสำคัญ

              Learning Style คือ รูปแบบการเรียนรู้หรือลีลาการเรียนรู้ของผู้เรียน ที่ผู้เรียนแต่ละคนชอบและปฏิบัติเป็นประจำ ในอันที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้หรือการรับรู้ได้ดีที่สุดสำหรับตนเอง ซึ่งผู้เรียนสามารถรับข้อมูลผ่านประสาทสัมผัสการรับรู้ 3 ทาง คือ ทางสายตา (Visual) ทางการฟัง/ได้ยิน (Auditory) และทางร่างกายและความรู้สึก (Kinesthetic)

    คุณลักษณะของผู้เรียนในแต่ละรูปแบบการเรียนรู้

              คุณลักษณะของผู้เรียนในแต่ละรูปแบบการเรียนรู้

    1. ผู้ที่เรียนรู้ได้ดีผ่านประสาทตา (Visual Learner)

              คือผู้เรียนที่ชอบเรียนรู้จากการได้ดู มองเห็นกริยาท่าทางของผู้สอนหรือสื่ออื่นๆ เช่น การอ่านหรือการดูภาพ เป็นต้น โดยกลุ่มผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีผ่านประสาทตา จะมีคุณลักษณะดังนี้

    • เรียนรู้ได้ดีถ้า ใช้สื่อประเภท รูปภาพ แผนภาพ แผนภูมิ แผนที่ แผนผังต่างๆ ภาพวาด การ์ตูน
    • มีการใช้ปากกาเน้นข้อความ ขีดเส้นหรือทำสีสันให้ข้อความที่สำคัญๆ ดูโดดเด่นทำให้จำได้ง่าย
    • พยายามจดบันทึก จดโน้ตย่อ หรืออ่านเอกสารการสอนของผู้สอน
    • วาดภาพหรือเขียนแผนที่ความคิด (Mind Map) ก่อนลงมือเขียนรายงาน
    • ใช้สื่อมัลติมีเดีย เช่น วิดีทัศน์ ภาพยนตร์
    • อ่านหนังสือ/ทำงานในสถานที่เงียบๆ ช่วยให้มีสมาธิเรียนรู้ได้ดีขึ้น
    • อ่านหนังสือที่มีภาพประกอบมากๆ จะช่วยให้จำและเข้าใจได้มากขึ้น
    • เรียนรู้จากการสาธิต การแสดงที่มีขึ้นตอนชัดเจน จะทำให้เรียนรู้ด้วยความเข้าใจ
    • พยายามสร้างจินตนาการหรือนึกภาพเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการจดจำ

    2. ผู้ที่เรียนรู้ได้ดีผ่านประสาทหู (Auditory Learner)

              คือผู้เรียนที่ชอบเรียนรู้จากการได้ฟัง/ได้ยิน เช่น การอธิปราย พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือการฟังผ่านสื่อต่างๆ เป็นต้น โดยกลุ่มผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีผ่านประสาทหู จะมีคุณลักษณะดังนี้

    • เข้ากลุ่มเพื่อร่วมอภิปราย สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่มบ่อยๆ
    • เขียนคำกล่าวรายงานและรายงานหน้าชั้นบ่อยๆ
    • ใช้เครื่องบันทึกเสียงการบรรยายดีกว่าการจดโน้ตย่อ
    • เวลาอ่านหนังสือให้อ่านออกเสียงเพื่อช่วยในการจำได้มากขึ้น
    • หาเทคนิคช่วยจำมากๆ เช่น เขียนคำย่อย หรือวิธีอื่นๆ ที่คิดว่าจะทำให้จำเรื่องนั้นๆ ได้มากขึ้น
    • เรื่องที่ต้องการจำให้นำมาแต่งเป็นเพลง
    • เล่าเรื่องหรือความคิดของเราให้เพื่อนฟังบ่อยๆ
    • เล่าเรื่องหรือบอกให้เพื่อจดบันทึกตามคำบอก

     

    3. ผู้ที่เรียนรู้ได้ดีผ่านประสาทเกี่ยวกับการสัมผัส (Kinesthetic Learner)

              คือผู้เรียนที่ชอบเรียนรู้จากการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่นการสัมผัส การทดลอง การลงมือทำ การเขียน แสดงบทบาทสมมติ เป็นต้น โดยกลุ่มผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีผ่านประสาทเกี่ยวกับสัมผัส จะมีคุณลักษณะดังนี้

    • หยุดพัก เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เวลาเรียนหรือทำงาน
    • ทำงานอื่นๆ หรือเคลื่อนไหวร่างกายไปพร้อมกับการเรียน เช่น การอ่านหนังสือขณะที่ขี่จักรยานบริหารร่างกาย
    • พยายามอ่านหนังสือหรือทำงานในสถานที่เดิมหรือเป็นประจำ จะได้มีสมาธิมากขึ้น
    • อาจจะเคี้ยวหมากฝรั่งไปด้วยขณะทำงานหรืออ่านหนังสือ
    • ใช้ปากกาเน้นข้อความขีดเขียนทับข้อความที่สำคัญขณะอ่านหนังสือ
    • เปิดเพลงเบาๆ ขณะอ่านหนังสือ
    • อ่านหนังสือแบบคร่าวๆ (Skim) ก่อนเพื่อทราบแนวคิดของเรื่องก่อนจะลงมืออ่านในรายละเอียด
    • ฝึกปฏิบัติงานที่ต้องทำตามคำสั่งอย่างมีขั้นตอน เช่นงานประดิษฐ์ งานช่าง
    • ชอบเล่นเกมที่มีสาระและความบันเทิง จะช่วยไม่ให้เบื่อง่ายและจดจำได้ดี

    ในปัจจุบันนักการศึกษาบางกลุ่มได้แบ่งรูปแบบการเรียนรู้ออกเป็น 4 ลักษณะ โดยเพิ่มรูปแบบการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่เรียนรู้ได้ดีผ่านการอ่านและเขียน (Read and Write Learner) ซึ่งหมายถึงผู้เรียนที่ชอบที่จะเรียนรู้และจดจำสิ่งต่างๆ โดยการอ่านและเขียน

    รูปแบบการเรียนรู้มีความสำคัญมากทั้งนี้เพราะ

    • ช่วยลดเวลาและความพยายามในการศึกษาเนื้อหาและทักษะใดทักษะหนึ่ง
    • ทำให้ผู้เรียนทราบถึงวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง
    • ทำให้ผู้เรียนเข้าใจถึงลักษณะของสอบที่ผู้เรียนสามารถทำได้ดีและลักษณะข้อสอบที่ต้องใช้เวลาเตรียมการมากขึ้น

    ดังนั้น เมื่อเราทราบแล้วว่ารูปแบบการเรียนหรือลีลาการเรียนของผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ในฐานะของครูผู้สอน การจัดการเรียนการสอนจึงควรคำนึงถึงความหลากหลายของการเลือกใช้สื่อตามไปด้วย เพราะในชั้นเรียนหนึ่งๆ นั้นย่อมมีผู้เรียนที่มีรูปแบบการเรียนที่แตกต่างกัน หรือแม้แต่บางคนก็ไม่ได้มีรูปแบบการเรียนรู้ที่ถนัดเพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้เมื่อผู้สอนจะออกแบบการสอนหรือจัดกิจกรรมการสอน ควรคำนึงถึงการเลือกใช้สื่อ และการจัดกิจกรรมที่หลากหลายตอบสนองต่อรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนเสมอ

    แบบทดสอบหา Learning Style ของตัวเอง