พระครูวรวรรณวิวัฒน์ ดร. เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๒ ณ บ้านหลวง หมู่ที่ ๖ ตำบล โหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ที่โรงเรียนบ้านหลวง ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดหนองโค้ง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ระหว่างเป็นสามเณรได้เรียนต่อจนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จบนักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรมประโยค ๑-๒ ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดโสภณาราม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ จากนั้นได้ศึกษาต่อจนจบปริญญาตรี สาขาศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา ปริญญาโทสาขาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาเอกสาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
ปัจจุบันพระครูวรวรรณวิวัฒน์ ดร. เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านหลวง รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล เจ้าคณะตำบลโหล่งขอด และประธานโครงการคนพร้าวรักษ์ป่า – โครงการโหล่งขอดโมเดล
พระครูวรวรรณวิวัฒน์ ดร. ได้ทำการพัฒนาชุมชนซึ่งเป็นแผ่นดินถิ่นเกิดและเป็นรากเหง้าของบรรพชนอย่างจริงจัง ด้วยการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาให้เป็นประโยชน์สำหรับการอยู่ร่วมกันของพืชพรรณธัญญาหาร แหล่งน้ำ สัตว์ ผู้คน และการประกอบสัมมาชีพของ ชาวชุมชน รวมทั้งให้การสนับสนุนการพัฒนาชาวชุมชนด้านการศึกษา ด้วยการบูรณาการให้บ้าน วัด และ โรงเรียน ตลอดจนองค์กรชุมชน และส่วนราชการต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง ให้มีความสมัครสมานสามัคคีร่วมกันพัฒนา ทำให้ชาวชุมชนมีความสุขความเจริญมากยิ่งขึ้น ทำให้ “อยู่เย็นเป็นสุข” ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
พระครูวรวรรณวิวัฒน์ ดร. เป็นผู้นำในการร่วมกันทำงานเป็นเครือข่าย ๕ ภาคี ได้แก่ ๑. พระสงฆ์ สามเณร ๒. ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ๓. องค์การบริหารส่วนตำบลโหล่งขอด ๔. กลุ่มสตรีแม่บ้าน เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ และอาสาสมัครสาธารณสุข ๕. ส่วนราชการต่างๆ เช่น โรงเรียน ตำรวจ อุทยานแห่งชาติ ศรีลานนา และทหาร นพค. ๓๒
ทั้งนี้การขับเคลื่อนชุมชนของตำบลโหล่งขอด ได้ให้ความสำคัญกับการทำงานแบบบูรณาการกัน ทุกภาคส่วน จะขาดส่วนหนึ่งส่วนใดมิได้ เน้นความรักความสามัคคี ความเอื้ออาทรต่อกันและให้ความสำคัญเสมอภาคกัน
ในการขับเคลื่อนโครงการโหล่งขอดโมเดล ดูแลพื้นที่ป่า ๑๘๗,๕๐๐ไร่ ครอบคลุม ๙ หมู่บ้าน ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของจังหวัดเชียงใหม่ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจัดตั้งโครงการ คนพร้าวรักษ์ป่าดำเนินการขอคืนผืนป่าและรักษาป่า ครอบคลุมพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา ดูแลผืนป่าจำนวน ๘๗๘,๕๕๘ ไร่ ในพื้นที่ ๒ จังหวัด ได้แก่ อำเภอพร้าว อำเภอไชยปราการ อำเภอเชียงดาวและ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เพื่อทำให้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน
พระครูวรวรรณวิวัฒน์ ดร. ได้ทำโครงการหมู่บ้านตัวอย่างตามรอยเท้าพ่อ โดยทำการจัดการน้ำ อย่างยั่งยืนในชุมชนบ้านหลวง หมู่ที่ ๖ ตำบลโหล่งขอด จนได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ จากการประกวดโครงการ “หมู่บ้านตัวอย่างตามรอยเท้าพ่อ” ประเภทการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในปี พ.ศ.๒๕๕๙
พระครูวรวรรณวิวัฒน์ ดร. ได้มอบที่ดินส่วนตัวของท่านจัดสร้างศูนย์เรียนรู้ เฮือนหลวงมหาวรรณ์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ภูมิปัญญาบรรพชน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอพร้าว โดยได้รวบรวมของโบราณ ของมีค่า ที่ได้รับการบริจาค ตลอดจนการเก็บสะสมของท่านเอง มาจัดแสดงไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในอำเภอพร้าว
พระครูวรวรรณวิวัฒน์ ดร. ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ ดังต่อไปนี้ พ.ศ. ๒๕๕๙ รางวัลต้นแบบ คนดีศรีแผ่นดิน ในโครงการคนดีศรีเชียงใหม่ จากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๕๙ รางวัลพระราชทานเสาเสมาธรรมจักร สาขาส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้รับ ๔ รางวัล ได้แก่ รางวัลเข็มพิทักษ์ป่าไม้ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่ได้รับรางวัลนี้ รางวัลบุคคลดีเด่น ด้านการส่งเสริมทำนุบำรุงศาสนา จากโครงการคนดีศรีเวียงพิงค์ รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ในการขับเคลื่อนโครงการโหล่งขอดโมเดล – คนพร้าวรักษ์ป่า อนุรักษ์พื้นที่ป่าจำนวน ๘๗๘,๕๐๐ ไร่ จากกองบัญชาการกองทัพไทย และรางวัลพระราชทานเชิดชูเกียรติผู้นำเครือข่ายพัฒนาชุมชนดีเด่น จากการ ทำหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็นเป็นสุข” ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
พระครูวรวรรณวิวัฒน์ ดร. ได้ให้การสนับสนุนการจัดการศึกษาของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ในการจัดตั้งสาขาและรับเป็นผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนเครือข่ายมหาวิทยาลัยชีวิต (ศรช.) พร้าว ณ วัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล และให้การช่วยเหลือนักศึกษาของ ศรช.พร้าว ด้วยการจัดทำกองทุน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อให้โอกาสแก่นักศึกษาได้กู้ยืมไปใช้จ่ายเป็นค่าเทอม และร่วมจัดกระบวนการเรียนรู้ ในฐานะอาจารย์พิเศษให้แก่นักศึกษาอย่างสม่ำเสมอด้วยดีตลอดมา