Wed. Dec 11th, 2024

    ประยงค์ รณรงค์

    ผู้นำชุมชนต้นแบบ

                 นายประยงค์ รณรงค์ เกิดที่ อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๔๘๐ จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ แล้วก็ออกจากโรงเรียนมาทำการเกษตร ปัจจุบันทำสวนสมรม ซึ่งมีทั้งเงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง สะตอ สละ ขนุน จำปาดะ ซึ่งล้วนแล้วแต่ปลูกตามร่องสวนยางพารา นอกจากนั้น ยังเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่พื้นเมือง ปลาน้ำจืด
                เป็นผู้นำการก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรทำสวนยางตำบลไม้เรียง เป็นประธานและผู้จัดการกลุ่มเกษตรทำสวนยางไม้เรียง เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง เป็นประธานเครือข่ายยมนา (ยาง-ไม้ผล-นาข้าว) เป็นผู้นำการทำแผนแม่บทชุมชนตำบลไม้เรียง และเป็นกรรมการมูลนิธิหมู่บ้าน
               เป็นผู้นำจัดทำแผนแม่บทการพัฒนายางพาราไทย ฉบับประชาชน เป็นคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยผู้นำชุมชนท้องถิ่น สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการบริหารกองทุนเพื่อสังคม (SIF) เป็นที่ปรึกษาคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ คณะกรรมการสมานฉันท์ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ           

           
                นายประยงค์ รณรงค์ เป็นผู้นำในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ด้วยความเชื่อว่า “เริ่มต้นเราต้องมีใจเข้มแข็งก่อน ไม่อ่อนแอ ตั้งหน้าตั้งตาพึ่งตนเองให้ได้ เราปฏิเสธไม่ยอมรับงบประมาณสนับสนุนจากภายนอกมาหลายปี เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าเรามีความสามารถที่จะพึ่งตนเองได้ ใครจะให้งบประมาณก็ไม่รับ เราบอกว่าต้องพึ่งตนเองก่อน เราสอนชาวบ้านให้พึ่งตนเอง ถ้าศูนย์เรายังพึ่งตนเองไม่ได้ คำพูดเราจะไม่มีน้ำหนัก มาถึงปัจจุบัน เราได้ข้อสรุปแล้วว่า แนวทางการพึ่งตนเองของชุมชน ถ้าเริ่มต้นจากตัวบุคคล แล้วขยายผลออกไป ในที่สุดชุมชนก็พึ่งตนเองได้มากขึ้น องค์กรของเราต้องพึ่งตนเองให้ได้ เริ่มตั้งแต่กลุ่มยางที่มีอยู่ในชุมชนตอนนี้ เราไม่เน้นการของบประมาณ แต่เน้นให้ร่วมกันคิด จนได้แนวทางร่วมกัน เห็นอนาคตร่วมกัน แล้วมาลงทุนร่วมกันในการทำกิจกรรมต่าง ๆ พอหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เขาต้องการสนับสนุนเรา เราจะเป็นผู้กำหนดให้ว่าต้องสนับสนุนอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าเขาไม่สนับสนุนตามแนวทางที่เรากำหนด เราก็จะขอไม่รับการสนับสนุนจากเขา”

                ปี ๒๕๔๗ นายประยงค์ รณรงค์ ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาพัฒนาชุมชน จากมูลนิธิรามอน แมกไซไซ ประเทศฟิลิปปินส์  เป็นชาวบ้านที่ได้รับการยอมรับจากชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชและชุมชนทั่วประเทศว่าเป็น “ผู้นำทางปัญญา” ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนลุกขึ้นมาเรียนรู้และค้นหาทางออก โดยการพึ่งพาตนเอง ไม่รอความช่วยเหลือจากรัฐหรือใคร ปี ๒๕๔๙ ได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นของชาติ ปี ๒๕๕๐ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นทวีติยาภรณ์ช้างเผือก ปี ๒๕๕๑ ได้รับรางวัลปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาผู้นำชุมชน และรางวัลอื่น ๆ อีกหลายรางวัล
                เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในด้านต่าง ๆ จนได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ได้แก่ บัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
                ในปี ๒๕๔๗-๒๕๔๘ นายประยงค์ รณรงค์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่วมยกร่างหลักสูตร ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และทำหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษแก่นักศึกษาในโครงการมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง ศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชนทุกจังหวัดในภาคใต้พานักศึกษาทุกรุ่นไปศึกษาดูงานที่ไม้เรียง เรื่องแผนแม่บทชุมชน วิสาหกิจชุมชน กองทุนและสวัสดิการชุมชน และเครือข่ายชุมชน

    สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน จึงเชิดชูเกียรติ ลุงประยงค์ รณรงค์ 

     เป็น “เมธาจารย์มหาวิทยาลัยชีวิต”

    อ่าน E-book เพิ่มเติม

    ชื่อหนังสือ:       บันทึกประสบการณ์

    สาระสังเขป:     หนังสือเล่มนี้รวบรวมความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้จากประสบการณืชีวิตของผู้เขียนไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาให้ยั่งยืน การสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตร การสร้างธุรกิจโดยชุมชน ศูนย์เรียนรู้ชุมชน การสร้างเครือข่าย การำทแผนแม่บทชุมชน การทำหน้าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ฯลฯ

    บรรณานุกรม:   ประยงค์ รณรงค์. (2558). บันทึกประสบการณ์. กรุงเทพฯ : บางกอกบล็อก.

    แหล่งที่มา:       บนชั้นหนังสือห้องสมุด สำนักหอสมุดและสารสนเทศ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน

    ชื่อหนังสือ:       รวมความรู้ ประสบการณ์ และแนวคิด ของชุมชนไม้เรียง

    สาระสังเขป:     หนังสือเล่มนี้รวบรวมความรู้เกี่ยวกับความรู้ แนวคิด และประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติ และทำมาหลายเรื่องหลายด้านทั้งที่สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างเป็นเวลาอันยาวนาน มีการสรุป วิเคราะห์ ปรับปรุง บันทึกรวบรวมข้อมูลเผยแพร่ทั้งแนวคิดและประสบการณ์ ผ่านเวทีบรรยายอยู่บ่อยครั้ง ฯลฯ

    บรรณานุกรม:   ประยงค์ รณรงค์. (2546). รวมความรู้ ประสบการณ์ และแนวคิด ของชุมชนไม้เรียง. นครศรีธรรมราช : ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง.

    แหล่งที่มา:       บนชั้นหนังสือห้องสมุด สำนักหอสมุดและสารสนเทศ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน

    ชื่อหนังสือ:       ประยงค์ รณรงค์ แมกไซไซ 2004 สาขาผู้นำชุมชน รางวัลของคนทำงานด้วยชีวิตและจิตวิญญาณ

    สาระสังเขป:     หนังสือเล่มนี้รวบรวมความรู้เกี่ยวกับประยงค์ รณรงค์กับการลงมือปฏิบัติด้วยแนวคิดเรื่องการพึ่งตนเอง เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้แรงหนุน และพร้อมที่จะยืนหยัดพิสูจน์ตนเองว่าหากสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงจะเกิดผลจริงในชีวิตของครอบครัวและชุมชน ฯลฯ

    บรรณานุกรม:   ประยงค์ รณรงค์. (2547). ประยงค์ รณรงค์ แมกไซไซ 2004 สาขาผู้นำชุมชน รางวัลของคนทำงานด้วยชีวิตและจิตวิญญาณ. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์.

    แหล่งที่มา:       บนชั้นหนังสือห้องสมุด สำนักหอสมุดและสารสนเทศ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน