Fri. Sep 13th, 2024

    เชียง ไทยดี

    นักเรียนรู้ผู้อุตสาหะ

             นายเชียง ไทยดี เกิดที่ อ. ศรีขรภูมิ จ. สุรินทร์ เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๗๑ บิดาเป็นคนจีน มารดาเป็นคนเขมร ครอบครัวมีอาชีพทำนา ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่บ้านเกิดจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ แล้วออกมาทำงานช่วยบิดามารดาหาเงินเลี้ยงครอบครัว แต่เนื่องจากครอบครัวไม่มีที่นาของตนเอง จึงต้องรับจ้างทำงานก่อสร้างด้วยนายเชียงได้ติดตามบิดาไปรับจ้างก่อสร้างบ้านและก่อสร้างโรงเรียนในเขตหมู่บ้านใกล้เคียงจนอายุ ๒๕ ปี ได้อุปสมบทเป็นเวลา ๑ พรรษา หลังลาสิขาบทแล้วแต่งงาน ได้อาศัยที่นาของแม่ยายประมาณ ๓๐ ไร่ทำนาเลี้ยงครอบครัว

              การทำนาซึ่งต้องอาศัยปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถกำหนดและควบคุมได้ เช่น ฝนไม่ตกตามฤดูกาล จึงตัดสินในเลิกทำนาหันมาทำสวนแทน ปี ๒๕๑๕ เริ่มเรียนรู้การทำสวนแบบเกษตรผสมผสานอย่างจริงจัง ยึดหลักการเกื้อกูลกันในธรรมชาติ ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกไม้ผลและพืชสวนครัวฟื้นฟูคุณภาพดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ โดยทำไปศึกษาค้นคว้าไป ทดลองอยู่เป็นเวลานานอย่างอุตสาหะจนประสบความสำเร็จ แล้วจึงเผยแพร่ประสบการณ์ของตนเพื่อช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้แก่เกษตรกรคนอื่น ๆ จนเป็นต้นแบบการทำเกษตรผสมผสานของจังหวัดสุรินทร์ เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและผู้สนใจทั่วภาคอีสานนอกจากนี้ยังได้เผยแพร่ความรู้ผ่านเวทีประชุมสัมมนา การบรรยายและการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง

             การทำสวนผสมผสานของนายเชียงทั้งปลูกพืชผลไม้และเลี้ยงสัตว์ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่าพืชล้มลุกให้ผลระยะสั้นสำหรับนำมาเลี้ยงครอบครัว เลี้ยงไก่ถือว่าให้ผลผลิตรายเดือน ผลผลิตรายปี ได้แก่ ปลา สำหรับผลผลิตระยะยาว ได้แก่ ไม้ผลชนิดต่างๆ ยิ่งปลูกหลายชนิดและให้ผลไม่พร้อมกันยิ่งดี การปลูกไม้ผลจะปลูกคละกันไปหมดไม่เป็นแถว จากการค้นพบของนายเชียงที่ว่า การปลูกคละกันเป็นการเกื้อกูลกัน เช่น มะเฟืองมีกลิ่นแรงดีจะช่วยป้องกันแมลงให้กับมะนาว หรือน้อยหนากันแมลงให้กับมะม่วง ซึ่งเป็นหลักการควบคุมกันเองในธรรมชาตินั่นเอง ส่วนข้อดีของการปลูกชิดกันก็คือทำให้สามารถรักษาความชุมชื่นในบริเวณสวน ทำให้ต้นไม้ได้เจริญเติบโตและสมบูรณ์ทั่วกัน วิธีการให้ปุ๋ยให้น้ำของครูเชียงมีหลักการว่าเวลาปลูกไม่ต้องขุดลึกหรือไม้ต้องเป็นหลุมใหญ่ ปลูกธรรมดาโดยจอบสับลงแล้วปลูก แต่ทึ่สำคัญอยู่ที่การให้น้ำและให้ปุ๋ยจะขุดหลุมห่างจากโคนต้นไปด้านปลายรากของต้นไม้ ๒ หลุม หลุมแรกใส่เศษใบไม้แห้งที่ร่วงลงมา หลุมที่ ๒ ใส่ปุ๋ยคอกและดินที่ลอกออกจากบ่อปลาเอาน้ำรดทั้ง ๒ หลุม ๑๐ วัน/ครั้ง ปลายรากก็คล้ายปากของพืช ฉะนั้นปุ๋ยและน้ำถูกดูดโดยรากพืชทันทีดีกว่าการให้ตรงโคนต้น ทั้งยังเป็นการประหยัดน้ำด้วย

             นายเชียงมีความต้องการตั้งกลุ่มเกษตรกรมานานแต่มีคนพูดกระแนะกระแหนว่า “ไม่ใช่หน้าที่อะไรของตัวเอง อยากดัง ทำอะไรข้ามหน้าข้ามตาเจ้าหน้าที่ที่เขามีหน้าที่โดยตรง” จึงหยุดคิดเรื่องตั้งกลุ่มอยู่หลายปี แต่ในที่สุดเห็นว่าเป็นประโยชน์กับคนรุ่นหลังจริง ๆ ในปี ๒๕๓๙ จึงตัดสินใจจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร และดำเนินงานมาจนประสบผลสำเร็จ และขยายเครือข่ายออกไป ๓ อำเภอ ท่านตั้งชื่อเครือข่ายนี้ว่า “เครือข่ายเกษตรชุมชนพึ่งตนเอง” ซึ่งเป็นเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน

                ปี ๒๕๓๔ นายเชียงได้รับรางวัลผู้นำอาชีพก้าวหน้าระดับจังหวัดสุรินทร์ ปี๒๕๓๙ ได้รับปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสถาบันราชภัฏสุรินทร์ ปี ๒๕๔๔ ได้รับรางวัลครอบครัวตัวอย่าง จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และรางวัลเกษตรกรตัวอย่างสาขา “ไร่นาสวนผสม จากกรมส่งเสริมการเกษตร ปี ๒๕๔๕ ได้รับรางวัลครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ ๒ ด้าน เกษตรกรรม สาขาเกษตรผสมผสาน จาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

                นายเชียง ไทยดี ให้การสนับสนุนโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตให้ใช้ศูนย์เรียนรู้ของท่าน เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักศึกษา มหาวิทยาลัยชีวิต ศรป. สุรินทร์ พร้อมเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่นักศึกษา ศูนย์เรียนรู้ศรีขรภูมิ ตลอดมา ท่านยังเป็นที่ปรึกษาของ ศรป. สุรินทร์ และศรช. ศรีขรภูมิ อีกด้วย

    สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน

    จึงเชิดชูเกียรติ

    เชียง ไทยดี

    เป็น “เมธาจารย์มหาวิทยาลัยชีวิต”