Sat. Jul 27th, 2024

    พระราชธรรมสุธี

    พระนักปราชญ์แห่งแม่กลอง

            นายเลี่ยม บุตรจันทา เกิดเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๔๙๙ ในครอบครัวเกษตรกรที่หมู่บ้านสะเดาหวาน ต.เย้ยปราสาท อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ เป็นบุตรของนายจันทีและนางจันทร์ บุตรจันทา เรียนจบการศึกษาผู้ใหญ่ระดับ ๔ โรงเรียนวัดใหม่ชัยมงคล และนักธรรมเอก เคยเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเมื่อปี ๒๕๓๘ มีภรรยาชื่อนางสมบูรณ์ บุตรจันทา มีบุตรชาย ๒ คน  คนโตเรียนจบปริญญาตรีด้านภูมิสถาปัตย์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ส่วนบุตรคนเล็กเรียนจบปริญญาตรีการแพทย์แผนไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ปัจจุบันบุตรทั้งสองคนมีครอบครัวแล้วและกลับมาอยู่บ้านช่วยงานบิดามารดา

              เมื่อปี ๒๕๓๐ นายเลี่ยมขายที่ดินทำกินที่บุรีรัมย์ใช้หนี้จนหมด และอพยพครอบครัวมาสร้างชีวิตใหม่ที่หมู่บ้านไดข้าวสาร (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านนาอีสาน”เมื่อปี ๒๕๓๑) ซื้อที่ดิน ๑๓ ไร่ ราคาไร่ละ ๑,๗๐๐ บาท ทำไร่ข้าวโพดและมันสำปะหลังแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่พอกินพอใช้ และมีภาระหนี้สินตามมาอีก

              ปี ๒๕๓๙ นายเลี่ยมไปฟังการบรรยายเรื่องการทำ    “วนเกษตร” ของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ปราชญ์ชาวบ้าน เกษตรนักคิด ได้ฟังตอนหนึ่งว่า “เกษตรกรโง่ไม่รู้จักตัวเอง ถ้าอยากรู้จักตัวเองให้ลองทำบันทึกข้อมูลรายรับรายจ่ายของตัวเอง” ซึ่งนายเลี่ยมกล่าวว่า “นี่คือจุดเริ่มต้นของผม” เริ่มจากการทำบัญชีครัวเรือน บันทึกรายรับรายจ่ายทุกวันจนถึงสิ้นปี ๒๕๓๙ พอขึ้นปีใหม่ต้นเดือนมกราคม ๒๕๔๐ ชวนภรรยามาดูบัญชีครัวเรือนด้วยกันกลายเป็นเรื่องที่ทำให้ทะเลาะกันอย่างรุนแรง เพราะนายเลี่ยมมีรายจ่ายค่าบุหรี่หมื่นกว่าบาท ค่าเหล้าสองหมื่นกว่าบาท ค่าหวย มวยตู้ เล่นไพ่ อีก รวมแล้วหกหมื่นกว่าบาท ส่วนภรรยามีรายจ่ายซื้อหมู ไก่ พริกทำกับข้าว ๒๙,๐๐๐ บาท และรายจ่ายลูก ๕,๐๐๐ บาท ทำให้ภรรยาและลูกเสียใจมาก รู้สึกสังเวชตัวเอง  จึงตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยการไปเรียนรู้การทำวนเกษตร การทำบัญชีครัวเรือน และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับผู้ใหญ่วิบูลย์ ปลูกทุกอย่างที่กินและกินทุกอย่างที่ปลูกเหลือจึงขาย ลดละเลิกเหล้าบุหรี่และการพนัน ทำให้ครอบครัวมีความสุขมาก จนอยากจะตั้งชื่อสวนว่าสวนตะพึดตะพือ แต่ ร.ศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ บอกให้ไปคิดมาใหม่ นายเลี่ยมกล่าวว่า “ชีวิตผมตอนนั้นกับยายตุ๋ย (ภรรยา) มันแสนออนซอนชีวิตเหลือหลายไม่ขัดใจกันเลย…เลยตั้งชื่อสวนนี้ด้วยภาษาอีสานว่าสวนออนซอนเมื่อปี ๒๕๔๐”

             ผู้ใหญ่วิบูลย์ให้ความรักความเมตตานายเลี่ยมมาก ทั้งการถ่ายทอดภูมิปัญญาและพาติดสอยห้อยตามกันไปประชุมและศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ปี ๒๕๔๐ ไปศึกษาดูงานด้านการเกษตรที่เกาหลีใต้ ๑๕ วัน ปี ๒๕๔๗ ไปสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เศรษฐกิจพอเพียงที่ภูฏาน ๖ วัน ปี ๒๕๔๘ ไปอบรมสัมมนากระบวนการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมที่ไต้หวัน ๖ วัน เป็นต้น  นายเลี่ยมกล่าวว่า “ที่สำคัญอีกท่านหนึ่งคืออาจารย์เสรี พงศ์พิศ ผมได้ความรู้จากท่านและยังได้รับความรู้จากหนังสือที่ท่านเขียนด้วย”

              ปี ๒๕๔๒ นายเลี่ยมได้ก่อตั้งกองทุนชีวิตของครอบครัว ๕ กองทุนและทำต่อมาจนถึงปัจจุบันได้แก่ กองทุนปลดหนี้ ซื้อเสื้อผ้า ซ่อมแซมสิ่งต่าง ๆ สุขภาพ และกองทุนค่าเล่าเรียนลูก เมื่อลูกเรียนจบกันหมดแล้วจึงเปลี่ยนเป็นกองทุนพัฒนาครอบครัว สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการพาครอบครัวไปท่องเที่ยวกันตอนสิ้นปี โดยนำรายได้ที่เหลือตอนสิ้นปีฝากให้ทุกกองทุนได้รับเงินเท่า ๆ กัน และทำบัญชีรายรับรายจ่ายกำกับไว้ด้วย

             นายเลี่ยมกล่าวว่า “บัญชีจะบ่งบอกว่าอะไรคือปัญหา และปัญหาคือการใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น บัญชี จะเป็นตัวกำกับและวิเคราะห์ข้อมูลที่จะชี้ให้เห็นปัญหา ใครทำบัญชีได้ต่อเนื่องจะเป็นภูมิคุ้นกันที่ดีที่สุด   ถ้าไม่ทำไม่รู้ปัญหา บัญชีนั้นถ้าดูดีๆจะบอกปัญหา กินเหล้า สูบบุหรี่ ตัวเลขจะบ่งบอก ทำให้เราคิดว่าทำไมต้องฟุ่มเฟือยกับสิ่งเหล่านี้ เลิกได้ไหม นอกจากนั้นบัญชียังมีความสำคัญกับเรื่องข้าว อาหาร ยารักษาโรค ของใช้ ในครัวเรือน ใครทำบัญชีได้ชีวิตก็จะดี บัญชีจะบอกว่าเราควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร สิ่งสำคัญคือตัวที่เป็นปัญหาเราต้องพึ่งคนอื่นตลอด เมื่อไม่มีปัญหาก็ไม่ต้องพึ่งคนอื่น”

              นายเลี่ยมวางแผนชีวิตไว้ ๓ ช่วง ได้แก่ปัจจุบัน อนาคตและก่อนตาย ปัจจุบันคือให้มีกินมีใช้  ไม่เดือดร้อนซึ่งทำสำเร็จแล้ว ส่วนอนาคตเมื่อถึงคราวสูงวัยจะทำอย่างไรก็ทำรองรับไว้แล้วด้วยการทำ  วนเกษตร ปลูกป่า ๓ อย่าง ได้ประโยชน์ ๔ อย่าง และก่อนตายก็คือการปลูกต้นไม้เป็นบำนาญ ทำในสิ่งที่    ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ ตั้งเป้าหมายทำไว้ ๕ เรื่องสำคัญได้แก่การปลูกข้าว ปลูกกับข้าว ทำของใช้ ทำสมุนไพรและทำปุ๋ย ทั้ง ๕ เรื่องต้องไม่มีรายจ่าย จะมีแต่รายได้เท่านั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดการเรียนรู้ด้านการเกษตรทั้งระบบตั้งแต่ปลูกไปจนตาย ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่ถือว่าเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ในชีวิต และ จะทำการถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังต่อไปจนกว่าจะหมดลมหายใจ

              นายเลี่ยมกล่าวว่า “หลักสำคัญในการเรียนรู้สู่การปฏิบัติต้องรู้จริง โดยเฉพาะ ๕ เรื่อง คือคนเราต้องรู้จักตนเอง รู้จักปัญหาและหนี้สินที่มาจากการใช้ชีวิตของตัวเอง รู้จักตัวเองว่าอยู่บนฐานทรัพยากรอะไรบ้าง รู้จักการใช้ทรัพยากร และรู้จักว่าตัวเราคือใคร ทำอาชีพอะไร ถ้ารู้ทั้ง ๕ ข้อนี้ ทำอาชีพไหนก็มีความสุข”

    ปี ๒๕๔๑ นายเลี่ยมชวนชาวบ้าน “บ้านนาอีสาน” ก่อตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์และทำบัญชีครัวเรือนนำรายรับ-รายจ่ายมาพูดคุยกันทุกวันที่ ๑๕ ของเดือน ทำให้ชาวบ้านสามารถลดรายจ่ายเพิ่มรายได้มีความสุขทั่วกัน และในปีเดียวกันนี้นายเลี่ยมได้นำชุมชนบ้านนาอีสานเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายชุมชนรอยต่อ  ๕ จังหวัดภาคตะวันออก ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

              ปัจจุบันชุมชนบ้านนาอีสานได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและโครงการรักษ์ป่าสร้างคน ๘๔ ตำบลวิถีพอเพียง โดยมีนายเลี่ยมเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นเกษตรกรนักคิดนักปฏิบัติ มีผู้คนทั้งในประเทศและต่างประเทศ  เข้าไปศึกษาดูงานกันมากจากกิจกรรมหลากหลายได้แก่กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ธนาคารข้าว การสู่ขวัญข้าว ธนาคารปลา สวนออนซอน เครื่องสีข้าวมือหมุน การแปรรูปสมุนไพร การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร                 การทำน้ำตาลจากอ้อย พืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ การเลี้ยงปลา การเลี้ยงไก่และป่าชุมชน (เขาน้อย)

             นายเลี่ยมเป็นบุคคลต้นแบบในการพัฒนาชีวิตแบบบูรณาการ เป็นนักจัดการการเกษตรและสิ่งแวดล้อมเพื่อชีวิตที่ยั่งยืน เป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชนไปสู่ชุมชนเรียนรู้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ด้วยระบบวนเกษตรและเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง เปิดกระบวนทัศน์ไปสู่การจัดการทรัพยากรทั้งระบบ ทั้งเรื่อง          ดิน ป่า น้ำ ระบบการเกษตร การอนุรักษ์พันธุ์ปลา และการจัดการคนให้เห็นห่วงโซ่ความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ปัจจุบันนายเลี่ยมมีที่ดินเป็นของตนเองในชุมชนบ้านนาอีสานรวม ๕๒ ไร่ มูลค่าซื้อขาย ไร่ละประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ บาท

              นายเลี่ยมได้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญที่ผ่านมาในการเป็นประธาน เป็นกรรมการ และเป็นผู้นำ ได้แก่ เป็นประธานกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ผู้นำกลุ่มองค์กรชุมชนเครือข่ายวนเกษตร ประธานเครือข่ายป่าตะวันออก คณะทำงานภูมิภาคลูกโลกสีเขียว คณะกรรมการกองทุนทางสังคมจังหวัดฉะเชิงเทรา และคณะกรรมการตัดสินการประกวดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น

              นายเลี่ยมให้ความร่วมมือกับสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนในการใช้สวนออนซอนเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานและเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักศึกษา อาจารย์และเครือข่ายมหาวิทยาลัยอย่างดียิ่งตลอดมา

    สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน

    จึงเชิดชูเกียรติ

    นายเลี่ยม บุตรจันทา

    เป็น “เมธาจารย์มหาวิทยาลัยชีวิต”