Sun. Dec 22nd, 2024

    นายเคล้า แก้วเพชร

    นายเคล้า แก้วเพชร

    นักสร้างนวัตกรรมการแก้ปัญหาอย่างแยบยล

               นายเคล้า แก้วเพชร เกิดเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๔๘๐ ณ หมู่ ๑ บ้านนาหว้า อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา บุตรนายจันทร-นางนุ้ย แก้วเพชร  เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนบ้านนาหว้า และอุปสมบทจนสอบได้นักธรรมตรี หลังจากนั้นเข้ารับการเกณฑ์ทหารสอบได้ยศสิบตรีกองประจำการ ต่อมาลาออกจากการเป็นทหาร เพื่อแต่งงานมีครอบครัว  ในระหว่างรับราชการทหารและครองเรือน  ได้ใช้หลักธรรมทางศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจชี้นำตนเองให้เป็นคนดี มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ชอบช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอมา และจากการเป็นผู้ที่ยึดมั่นอยู่ในหลักธรรมของศาสนานี้เอง  จึงเป็นพลังสำคัญที่ทำให้นายเคล้าได้นำมาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองและของชุมชนนาหว้าให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข
                ความพยายามของนายเคล้าเริ่มเห็นผลสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จากวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๒๒ ได้เริ่มต้นทำการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านสามารถรวบรวมสมาชิกได้ ๕๖ คน ในช่วงแรกมีคนลงขันเพียง ๘๖๐ บาท รวมค่าสมัครอีก ๕๖๐ บาท รวมเป็นเงินก้อนแรก ๑,๔๒๐ บาท แต่ปัจจุบันมีสมาชิกมากถึง ๑,๗๔๐ คน               มีเงินหมุนเวียนในกองทุนบ้านนาหว้าเกือบ ๔๐ ล้านบาท  สิ่งสำคัญที่ทำให้กองทุนมีเงินเพิ่มพูนมากขึ้น เป็นเพราะมีความซื่อสัตย์เป็นสำคัญ ซึ่งนายเคล้านำมาใช้กล่อมเกลาจิตใจคนในชุมชน ให้เป็นคนดีมีสัจจะในการเก็บออม เพื่อประโยชน์ทั้งของส่วนตนและส่วนรวม
                นายเคล้าไม่ได้จัดตั้งเพียงกองทุนออมทรัพย์เท่านั้น  แต่ได้ทำการต่อยอดการใช้ดอกผลจัดสรรเป็นกองทุนขนาดเล็กอื่นๆ อีก ๖๓ กองทุนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของสมาชิกตั้งแต่เกิดจนตาย รวมเรียกว่า  กองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนเหล่านี้แบ่งเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ ด้านการพัฒนาอาชีพ ด้านการใช้สอยเพื่ออาชีพและคุณภาพชีวิต  ด้านการศึกษา  ด้านพิธีกรรมและประเพณี  ด้านกลุ่ม ชมรมและศูนย์ กองทุนพิเศษและฉุกเฉิน และกองทุนฌาปนกิจ  ซึ่งล้วนเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของชุมชนทั้งสิ้น ทำให้บ้านนาหว้ามีคณะกรรมการบริหารกองทุนรวม   ๖๓ กองทุน จากชาวบ้านทั้งหมดเพียงประมาณ ๑๘๐ ครัวเรือน การทำงานของนายเคล้ายึดหลักการวางระบบให้ชัดเจนทั้งระบบบัญชีและระบบการบริหารจัดการรวมทั้งการมี คุณธรรม โดยยึดหลัก ๕ ประการได้แก่ ความซื่อสัตย์  การเสียสละเพื่อส่วนรวม มีความรับผิดชอบร่วมกัน มีความเห็นอกเห็นใจกัน และไว้วางใจกัน     

               นายเคล้ามีวิธีการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของชาวบ้าน ซึ่งเป็นที่สนใจของชาวบ้านและนักวิชาการที่ไปขอศึกษาดูงานอยู่เสมอๆ วิธีการถ่ายทอดความรู้ของนายเคล้า จะใช้การบรรยายและ  การนำชมศูนย์สาธิตที่ทำการของกลุ่มแม่บ้าน  นายเคล้าได้เชื่อมโยงกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีในชุมชนทุกระดับให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการก่อตั้งเครือข่ายองค์กรชาวบ้านทั้งในระดับชุมชน ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ เรียกว่า “เครือข่ายรวมน้ำใจ” เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันเรียกว่า “กองทุนรวมน้ำใจ”  
             นายเคล้าได้รับการชื่นชมว่าเป็นผู้มีเทคนิคการใช้เงินเป็นเครื่องมือได้อย่างประหยัดและแยบยล   ในการพัฒนาชีวิตและชุมชน โดยการจัดการของนายเคล้าส่วนใหญ่จะเน้นการนำดอกผลของ กลุ่มออมทรัพย์มาจัดสวัสดิการให้แก่ประชาชนในหมู่บ้าน สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาด้านสังคมและเศรษฐกิจของประชาชนในชุมชนได้เป็นอย่างดี คนพิการ ผู้สูงอายุ เยาวชน ผู้ประสบภัย รวมทั้งประชาชนทั่วไปได้รับสวัสดิการในการประกอบอาชีพ เงินหมุนเวียนที่ให้สมาชิกกู้ยืมจำนวน ๓๓ ล้านบาทเศษ คือความสำเร็จของกระบวนการบริหารจัดการของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านนาหว้า
                นายเคล้าได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นบุคคลผู้ทรงภูมิปัญญาได้แก่ พ.ศ. ๒๕๒๕ รับโล่รางวัลพัฒนาชุมชนดีเด่นประจำปี  พ.ศ. ๒๕๒๕ และ ๒๕๔๑ รับโล่รางวัลผู้นำดีเด่นการเผยแพร่ชุมชนเข้มแข็ง จากกระทรวงมหาดไทย  พ.ศ. ๒๕๓๘-๒๕๔๒ เป็นกรรมการบริหารสภาวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา   พ.ศ. ๒๕๔๐ รับรางวัล “คนดีศรีสังคม” จากมูลนิธิหมู่บ้านร่วมกับมูลนิธิหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  พ.ศ. ๒๕๔๐ รับโล่รางวัลการเลี้ยงปศุสัตว์ของกลุ่มเลี้ยงโคดีเด่นแห่งประเทศไทย  พ.ศ. ๒๕๔๕ รางวัล ครูภูมิปัญญาไทย ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
                นายเคล้ามีคุณูปการต่อสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนโดยสนับสนุนช่วยเหลือ ศปจ.สงขลาในการ  จัดกระบวนการเรียนรู้หลายวิชา เช่น การจัดการทุนของชุมชนเพื่อสวัสดิการชุมชน นักศึกษามีโอกาสได้ศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยตรงกับนายเคล้า และได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งในการทำกิจกรรมต่าง ๆ  

    สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน จึงเชิดชูเกียรติ

    นายเคล้า แก้วเพชร

     เป็น “เมธาจารย์มหาวิทยาลัยชีวิต”