นายสมทรง แสงตะวัน เกิดเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๔๙๒ ณ บ้านบางพลับ ต.บางพรม อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ในครอบครัวชาวสวน เป็นบุตรนายกล่อมและนางผัน แสงตะวัน จบการศึกษา ปกศ.สูง จากวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จากมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ภรรยาชื่อนางฉวัล แสงตะวัน มีบุตร ๒ คน แต่เสียชีวิต ๑ คน
นายสมทรงเริ่มรับราชการครูเมื่อปี ๒๕๑๔ ที่โรงเรียนบ้านคลองสมบูรณ์ อ.อัมพวา และปี ๒๕๑๖ จึงย้ายไปอยู่โรงเรียนวัดบางพลับจนถึงเกษียณอายุราชการในปี ๒๕๕๑ รวมเวลารับราชการครู ๓๗ ปีเศษ
นายสมทรงเป็นคนชอบทำสวนช่วยบิดามารดาทำสวนผลไม้มาตั้งแต่เล็กจนโต แม้ไปเรียนต่อวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยาที่กรุงเทพฯก็จะกลับมาช่วยครอบครัวทำสวนในวันหยุดทุกสัปดาห์ และเมื่อรับราชการครูก็ยังคงทำสวนควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่จะให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ
บิดานายสมทรงปลูกส้มโอในสวนหลายต้นเป็นพันธุ์อื่นที่มีลูกดกมากกว่าพันธุ์ขาวใหญ่ที่ปลูกไว้เพียง ๒ ต้น ออกลูก ๒-๓ ลูกต่อปีเพียงรุ่นเดียว แต่สาเหตุที่ยังปลูกเอาไว้เป็นเพราะเป็นส้มโอที่มีคุณสมบัติโดดเด่นของความหวานอร่อย รสชาติดี ถูกปาก ไม่เปรี้ยวขมเหมือนส้มโอพันธุ์อื่นๆ จึงปลูกเอาไว้กินภายในครอบครัวเพียงเท่านั้นไม่ได้นำไปขาย และสามารถเก็บรักษาได้นานถึง ๒ เดือน ส่วนพันธุ์อื่น ๑ สัปดาห์เริ่มเน่าแล้ว
นายสมทรงได้นำเอาลักษณะเด่นของส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ไปเผยแพร่ให้ลูกศิษย์และเพื่อนบ้านได้รับรู้ด้วยแต่ไม่มีใครให้ความสนใจ เพราะส้มโอพันธุ์อื่นให้ผลตอบแทนดีกว่ามาก นายสมทรงจึงตัดสินใจลงมือทำเสียเองเมื่อปี ๒๕๒๐ ไปซื้อสวนผลไม้ ๗ ไร่ ซึ่งปลูกส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ไว้ด้วยแล้วจำนวน ๓ ต้น นำมาใช้ทำ กิ่งพันธุ์ลงปลูกได้ ๑๐๐ ต้น ใช้ปุ๋ยธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี ช่วง ๓ ปีแรกย่ำแย่มาก ออกลูกปีละ ๑ รุ่นได้ต้นละ ๒-๓ ลูก เท่านั้น แต่ยังมีรายได้เสริมจากกล้วยหอมและตาลมาช่วยจุนเจือทุกวัน จึงพอจะประคองตัวได้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ใช้ความพยายามศึกษาเพิ่มเติมอย่างหนักในวิถีเกษตรธรรมชาติ จนประสบความสำเร็จได้ผลผลิตดีมากในปี ๒๕๒๔ ส้มโอในสวนออกลูกได้ถึงต้นละ ๖๐-๘๐ ลูกต่อรุ่น และมากถึงปีละ ๔ รุ่น ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยมา
ความสำเร็จของนายสมทรงได้รับความสนใจจากเพื่อนบ้านและรวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มเกษตรกร ทำสวนส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ ในช่วงแรกมีหลายคนยังคงใช้สารเคมีมาก ทำความเสียหายให้แก่สิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ทำให้กุ้งหอยปูปลาในร่องสวนหมดสิ้นไป ชาวสวนล้มป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุว่าเป็นอะไร จึงปรึกษาหารือกันจนได้ข้อสรุปให้ร่วมกันเลิกใช้สารเคมีอันตรายทั้งหมด และเปลี่ยนไปใช้เกษตรธรรมชาติ แต่จะต้องมีความรู้ที่ดีด้วย จึงพากันไปอบรมการทำเกษตรแบบชีววิถีที่ศูนย์เกษตรกรรมธรรมชาติคิวเซ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เมื่อปี ๒๕๒๗ ได้รับความรู้เรื่องปุ๋ย การใช้สมุนไพรกำจัดแมลง การใช้ประโยชน์จาก ตัวห้ำตัวเบียน การใช้แมงมุมกำจัดไรแดงและหนอนชอนใบซึ่งเป็นศัตรูตัวสำคัญของส้มโอ หลังจากนั้นจึงทำตามกันได้ประโยชน์ทุกราย
นายสมทรงนำภูมิปัญญาดั้งเดิมของบิดาในการใช้ขี้แดดนาเกลือใส่โคนต้นส้มโอช่วยทำให้ผลส้มโอ มีรสขมน้อยลง ถ้าใส่โคนต้นมะพร้าวจะทำให้มีผลดกก้นลูกไม่แตก
ในปี ๒๕๔๐ นายสมทรงต้องการส่งผลส้มโอเข้าประกวดที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรชิงรางวัลโล่พระราชทานของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ จึงทดลองทำกับส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ ๑ ต้นใส่ขี้แดดนาเกลือมากกว่าปกติถึง ๓ กระสอบ ได้ผลผลิตดีมาก นำไปส่งเข้าประกวดได้รับรางวัลชนะเลิศ เพราะเป็นส้มโอลูกใหญ่ หนักถึง ๑ กิโลกรัม ๙ ขีด มีความหวานมากกว่าคนอื่น หวานนิ่ม ไม่กรอบแห้ง ล่อน กลีบสวย เปลือกบาง ลูกแป้นตรงไม่เบี้ยว แต่ภายหลังส้มโอต้นนั้นตายเพราะใส่ขี้แดดนาเกลือมากเกินไป จากผลดีผลเสียที่เกิดขึ้นทำให้สภาวิจัยแห่งชาติสนใจให้ทุนทำการวิจัย จึงพบว่าขี้แดดนาเกลือมีประโยชน์มาก มีทั้งแพลงตอน ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม และอีกหลายอย่าง เมื่อใช้กับสวนส้มโอจะทำให้มีรสชาติดี และให้ใช้ได้ต้นละ ๓ กิโลกรัมต่อการผลิต ๑ รุ่น โดยให้ใส่บริเวณพื้นที่คลุมดินของต้น และหากนำไปใช้กับต้นมะพร้าวจะได้ผลเช่นเดียวกับที่เคยทำกันมาก่อนแล้ว
นอกจากนั้น นายสมทรงยังปลูกหญ้าในสวนส้มโอเพื่อให้แมลงมาวางไข่บนใบหญ้าจะได้ไม่ไปวางไข่ บนใบส้มโอ และไข่นั้นก็ยังเป็นอาหารของตัวห้ำตัวเบียนอีกด้วย
นายสมทรงได้ปลูกต้นทองหลางพืชตระกูลถั่วตามริมน้ำชายคลองที่ใช้น้ำเข้าสวนมีประโยชน์มาก ในฤดูแล้งจะช่วยพรางแดดให้ต้นส้มโอ ฤดูฝนจะตัดแต่งกิ่งและใบเอาไปแช่น้ำในคลองทิ้งไว้ ๑ ปี จะกลายเป็น ขี้เลนปุ๋ยอย่างดี เมื่อนำไปใส่สวนจะทำให้ส้มโอมีรสชาติดี ส่วนรากจะมีกลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถสังเคราะห์สารอาหารไรโซเบียม เมื่อไถกลบลงดินซากปมรากจะสลายตัวปลดปล่อยไนโตรเจนและธาตุอาหารอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของส้มโอ สำหรับใบแก่ของทองหลางจะใช้ทำปุ๋ยหมักช่วยปรับปรุงคุณภาพดิน ทำให้ดินร่วนซุยช่วยการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศของดินได้ดี ช่วยทำให้รากส้มโอชอนไชไปหาอาหารไกล ๆ ได้ง่าย
นายสมทรงทำน้ำหมักชีวภาพเอาไว้ใช้เอง เป็นน้ำหมักคุณภาพดีมีสารไคโตซาน และมีจุลินทรีย์กำจัดเชื้อราที่เป็นสาเหตุทำให้พืชเป็นโรครากเน่า จึงเป็นผลดีต่อสวนส้มโอ
ปัจจุบันนายสมทรงมีที่ดินเป็นของตนเอง ๑๐ ไร่ และเช่า ๕ ไร่ ปลูกส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ ๖๐๐ ต้นเศษ มะพร้าวน้ำหอม ๕๐๐ ต้นเศษ
ปกติการใช้สารเคมีจะทำให้ต้นส้มโอเริ่มตายเมื่อมีอายุ ๑๒ ปี แต่ส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ของนายสมทรงอายุ ๔๐ ปีแล้วยังไม่ตาย และสร้างผลผลิตได้มากถึงต้นละ ๓๐๐-๔๐๐ ลูกต่อ ๑ รุ่น ๑ ปีได้ ๔ รุ่น แต่มีความจำเป็นต้องทำให้เหลือเพียงต้นละ ๑๐๐ ลูก เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของต้นที่พอจะรับได้เท่านั้น
นายสมทรงนำชาวบ้านช่วยกันดูแลคลองและลำประโดง ลอกเลนให้น้ำไหลผ่านได้ดี และมีความสะอาดอยู่เสมอ ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เครือข่ายมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่นสมุทรสงคราม เชื่อมโยงกัน ทั้ง ๓ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อัมพวา และบางคนที ทำการรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดภูมิปัญญาและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีองค์ความรู้มากถึง ๒๐ ฐานการเรียนรู้
นอกจากนั้นนายสมทรงยังพัฒนาชุมชนบ้านบางพลับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและ การท่องเที่ยวชุมชน เป็นผู้นำชาวบ้านทำโฮมสเตย์บ้านบางพลับให้เป็นได้ทั้งสถานที่พักแรมและการฝึกอบรม สามารถรับเข้าพักได้ ๓๐๐ คน
การปฏิบัติของนายสมทรงที่ผ่านมาบ่งชี้ถึงคุณค่าความเป็นครูของนายสมทรงเปรียบได้ดั่งช่างปั้น ด้วยปณิธานอันบริสุทธิ์ที่ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของสังคม ด้วยการตบแต่งรูปทรงอันบูดเบี้ยวของศิษย์ให้มีความงดงามทั้งด้านร่างกายและจิตใจ กลายเป็นความผูกพันและมีศรัทธาต่อกัน เฉกเช่นเดียวกับที่นายสมทรงได้ปฏิบัติกับส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ด้วยความมานะพยายาม และเพียรทนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอยาวนาน สามารถบูรณาการต่อยอดเรื่องราวที่เกี่ยวข้องได้อีกมากมาย จนประสบผลดี มีประโยชน์แก่ชีวิต ชุมชน และส่วนรวมของสังคมหลายเรื่องราว
นายสมทรงได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติในปี ๒๕๔๐ รับโล่พระราชทานรางวัลชนะเลิศการประกวดส้มโอของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ปี ๒๕๔๕ ได้รับรางวัลครูภูมิปัญญาไทยด้านเกษตรกรรมรุ่นที่ ๒ จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ปี ๒๕๕๑ ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จากมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปี ๒๕๕๐,๒๕๕๑,๒๕๕๓,๒๕๕๖ และ ๒๕๕๘ ได้รับรางวัลแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชน Thailand Tourism Award จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ๕ สมัย
นายสมทรงได้ให้ความร่วมมือกับสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนในการให้ใช้สถานที่เป็นแหล่งเรียนรู้ ดูงานและเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักศึกษาอย่างดียิ่งตลอดมา