Tue. Sep 10th, 2024

    นายบุญปรอด เจริญฤทธิ์

    “ปราชญ์แห่งนาเกลือ”

              นายบุญปรอด เจริญฤทธิ์ เกิดเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๙ ณ บ้านเลขที่ ๙๙/๑ หมู่ที่ ๑ ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุตรคนที่ ๘ ของนายบุญรอดและนางบุญมี เจริญฤทธิ์   มีพี่น้องทั้งหมด ๙ คน การศึกษาจบปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ภรรยาชื่อนางสำอางค์  มีบุตรสาวหนึ่งคน

              หลังจากเรียนจบปริญญาตรี นายบุญปรอดทำงานกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ และเป็นพนักงานขายของบริษัทไทยประกันชีวิตอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แต่ต่อมาบิดามารดาขอร้องให้กลับสู่บ้านเกิดเพื่อให้ประกอบอาชีพทำนาเกลือแทนบิดามารดาในพื้นที่ ๓๒ ไร่ ซึ่งเป็นทั้งผืนดินของรากเหง้าและเป็นอาชีพที่สืบทอดกันเรื่อยมาตั้งแต่ครั้งบรรพชนนับเป็นเวลาถึง ๗ รุ่นแล้ว

              นายบุญปรอดกล่าวว่าการทำนาเกลือเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่ถ่ายทอดกันเรื่อยมาจนถึง   คนรุ่นเรา น่าเสียดายถ้าความรู้เหล่านี้จะสูญหายไป เพราะคนทำนาเกลือขายที่ดินกันเกือบหมดแล้ว จังหวัดสมุทรสงครามในอดีตมี ๒ ตำบลที่ทำนาเกลืออยู่ราว ๑๓๒ ราย เดี๋ยวนี้เหลือไม่ถึง ๑๐ รายที่เป็นเจ้าของนา  

              นายบุญปรอดทำให้ขี้แดดนาเกลือกลายเป็นของมีค่าขายได้กิโลกรัมละ ๒ – ๓ บาท จวบจนถึงปัจจุบันปริมาณขี้แดดนาเกลือที่เกิดขึ้นแต่ละปีในเนื้อที่นา ๑ ไร่ จะมีขี้แดดนาเกลือประมาณ    ๒,๐๐๐ – ๓,๐๐๐ กิโลกรัม นายบุญปรอดกล่าวว่า “เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.๒๕๖๑) เครือข่ายของผม  ขายขี้แดดนาเกลือได้ ๔,๐๐๐ ตัน ในราคาตันละ ๒,๐๐๐ บาท หรือกิโลกรัมละ ๒ บาท ส่วนคนอื่นขายกิโลกรัมละ ๓ บาทก็มี”

              การพัฒนากระบวนการทำนาเกลือ ซึ่งแต่เดิมมีการทำนาเกลือเพื่อนำเกลือที่ได้ไปขายเพียงอย่างเดียว แต่นายบุญปรอดได้ทำการศึกษาและพัฒนาต่อยอด เช่น การทำ “วังน้ำ” ซึ่งใช้เก็บน้ำเค็มให้ตกตะกอนก่อนปล่อยน้ำเค็มไปสู่ “นาตาก”นั้น ได้ทำการพัฒนา “วังน้ำ” ให้เป็นแหล่งเลี้ยงหอย ปลา และสาหร่ายพวงองุ่น ทำให้ในวังน้ำสามารถสร้างอาชีพและมีรายได้มากกว่าการทำนาเกลือ

    ส่วน “นาตาก” หลังจากนำผลผลิตเกลือออกไปแล้ว ได้ขูดขี้แดดนาเกลือทำเป็นปุ๋ยเพิ่มความหวานให้แก่ผลไม้ต่างๆ หรือจะนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ปีก เช่น นก ไก่ และเลี้ยงปลา ก็ได้ด้วย

       

    สำหรับเกลืออีกชนิดหนึ่ง คือ “เกลือจืด” สมัยก่อนจะขูดเอาเกลือจืดไปทิ้ง ถมคลอง ถมที่
    นายบุญปรอดได้พัฒนานำเกลือจืดทำเป็นเครื่องสำอาง บำรุงผิว ได้ผลเป็นอย่างดี

    นอกจากนั้นได้พัฒนา “ดอกเกลือ” ที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ ทำเป็นเกลือสปาบำรุงผิว นำ “ดินฝุ่นเกลือ”            ไปทำไข่เค็ม  นำ “น้ำเค็ม” ส่วนที่เกินในนาเกลือไปขายใช้เลี้ยงสัตว์น้ำ  และนำ ”ดีเกลือ” ที่มีความเค็มสูง             จนขม สมัยก่อนใช้ผสมทำยาไทยหลายชนิด ถูกพัฒนานำมาใช้เพาะเห็ดได้ดี 

             นายบุญปรอด เริ่มก่อตั้งโรงเรียนคนทำนาเกลือเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ ดำเนินงานสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ศูนย์เรียนรู้โรงเรียนคนทำนาเกลือ” ทำการถ่ายทอดองค์ความรู้วิวัฒนาการทำนาเกลือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งวัฒนธรรมประเพณีในวิถีชีวิตของชาวนาเกลือ เช่น ประเพณีการทำพิธีแรกนาก่อนทำนาเกลือ การทำขวัญนาเกลือ และประเพณีการเปิดยุ้งขายเกลือ เป็นต้น และทำฐานการเรียนรู้            จำนวน ๑๒ ฐาน ประกอบไปด้วย ๑) ความรู้เรื่องเกลือสมุทร ๒) พลังงานทดแทน (โซล่าเซลล์) ๓) การทำ         แป้งเกลือจืด (พอกหน้า) ๔) การทำไข่เค็มด้วยดินฝุ่นเกลือ ๕) การทำชาใบขลู่ ๖) การทำสปาดอกเกลือ             ๗) การทำเกลือดับกลิ่น ๘) การทำปุ๋ยขี้แดดนาเกลือ ๙) การอนุรักษ์ป่าชายเลน ๑๐) การทำสบู่ดอกเกลือ  ๑๑) การทำไอศกรีมโบราณ และ ๑๒) กิจกรรมช้อนดอกเกลือ ซึ่งมีผู้เข้าเรียนรู้ดูงานทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เฉลี่ยเดือนละประมาณ ๑,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ คน

              นายบุญปรอดส่งเสริมให้เยาวชนในท้องถิ่นที่ไม่มีงานทำและติดยาเสพติด ได้เรียนรู้และ                   เก็บขี้แดดนาเกลือขายให้แก่โครงการวิจัยคุณสมบัติและการใช้ประโยชน์จากขี้แดดนาเกลือ และสอนการเก็บดินฝุ่นในนาเกลือใช้ทำไข่เค็ม จัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรนอกโรงเรียน ทำให้เยาวชนได้เรียนรู้  มีรายได้ และ             เลิกยาเสพติด นายบุญปรอดกล่าวว่าปัจจุบันยังมีเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำนาเกลือกับต่างประเทศอีกด้วย ได้แก่ ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย

              นายบุญปรอดได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้แก่ รางวัลเชิดชูเกียรติ                      “คนดีศรีสมุทรสงคราม” จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสงคราม  รางวัลเชิดชูเกียรติ                 โรงเรียนคนทำนาเกลือให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของจังหวัดสมุทรสงครามที่ดีเยี่ยม จากหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม และเว็บไซต์แม่กลองการันตี ได้ประกาศให้โรงเรียนคนทำนาเกลือของนายบุญปรอด เป็นของดีจังหวัดสมุทรสงคราม

              นายบุญปรอดได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำนาเกลือและการทำผลิตภัณฑ์เกลือให้แก่นักศึกษาและบุคลากรของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนที่มาจากทั่วประเทศอย่างสม่ำเสมอด้วยดีตลอดมา

       

    สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน จึงเชิดชูเกียรติ

    นายบุญปรอด เจริญฤทธิ์

     เป็น “เมธาจารย์มหาวิทยาลัยชีวิต”