Tue. Oct 15th, 2024

    นายนิคม พรหมมาเทพย์

    “ ปราชญ์พื้นบ้านแห่งล้านนา”

              นายนิคม  พรหมมาเทพย์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ณ บ้านเลขที่ ๘๒ บ้านป่ารวก หมู่ที่ ๖ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรของนายเดชาและนางวันดี พรหมมาเทพย์ ภรรยาชื่อนางพรทิพย์ พรหมมาเทพย์  มีบุตรสาว ๒ คน การศึกษาจบปริญญาตรี วิชาเอกภาษาไทย และปริญญาโท สาขาการศึกษานอกระบบ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ารับราชการครูเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ณ โรงเรียนบ้านสันกำแพง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้นย้ายไปเป็นศึกษานิเทศก์อำเภอดอยสะเก็ด  เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗  รับผิดชอบงานการศึกษาเพื่อพัฒนาชนบทยากจน ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ย้ายไปเป็นศึกษานิเทศก์อำเภอสันกำแพง รับผิดชอบการพัฒนาโรงเรียนแกนนำการใช้จุลินทรีย์ “อีเอ็ม” เพื่อกำจัดขยะและการทำ ปุ๋ยหมักโบกาฉิอินทรีย์ ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๔๖ ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นศึกษานิเทศก์ เขต ๑ จังหวัดเชียงใหม่ รับผิดชอบจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นภาษาล้านนา และพัฒนาภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนา อยู่ในตำแหน่งนี้ จนเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑
              หลังเกษียณอายุราชการ  นายนิคมได้ใช้บริเวณบ้านของตนเองเป็นแหล่งเรียนรู้ “ผะหญาล้านนา” โดยใช้หลักการศาลาพระดาบสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เปิดโอกาสให้ผู้สนใจ ได้เรียนวิชาภูมิปัญญาพื้นบ้าน จัดการถ่ายทอดความรู้เรื่องภาษาและวรรณกรรมล้านนา การฟ้อนดาบ           การฟ้อนเจิงล้านนา  การแพทย์พื้นบ้านล้านนา  การทำสวนสมุนไพร การอบสมุนไพรพลังแร่ธาตุบำบัด  ทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านล้านนา และได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต กินอยู่อย่างพอเพียง และใช้ความรู้ควบคู่คุณธรรม
              นายนิคมใช้หลักการแพทย์แผนไทยล้านนาโบราณรักษาคนไข้ เช่น การเรียกขวัญ การผูกข้อมือผู้ป่วย   เพื่อสร้างกำลังใจก่อนการรักษา และเขียนป้ายให้ผู้ป่วยได้อ่านและทำความเข้าใจพร้อมกับอธิบายว่า “กายดี จิตดี ย่อมทำให้ชีวิตดี” ต่อจากนั้นจึงทำการรักษาด้วยการให้คนไข้เข้าอบสมุนไพร พร้อมกับให้หลักการว่า “หมอไม่ใช่เทวดา  ยาไม่ใช่ของวิเศษ  ตัวเราเองนี่แหละรักษาตนเองให้ดีที่สุด”     

             นอกจากนั้นนายนิคมยังได้จัดห้องเรียนชุมชนของมหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข ทำกิจกรรมช่วยเหลือผู้สูงอายุ ในการควบคุมดูแลของ อบต.ดอนแก้ว และ สสส. เป็นผู้ทรงคุณวุฒิสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และประธานฝ่ายภูมิปัญญาท้องถิ่นสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เป็นอาจารย์พิเศษ วิชาภูมิปัญญาการรักษาโรคแบบล้านนา ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีเชียงใหม่ และ อบจ.เชียงใหม่ได้แต่งตั้งให้แหล่งเรียนรู้ “ผะหญาล้านนา” เป็นห้องเรียนภูมิปัญญาพื้นบ้านตามหลักสูตรปฏิรูปการศึกษาของจังหวัดเชียงใหม่
              นายนิคมมีความรู้ความสามารถด้านพิธีกรรมล้านนา ภาษาและวรรณกรรมล้านนา ศิลปะพื้นบ้านล้านนา การฟ้อนดาบ การฟ้อนเจิง การแพทย์แผนไทยและการดูแลสุขภาพแบบล้านนา  ผลงานที่ โดดเด่น คือการทำพิธีกรรมล้านนา เช่น ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ให้เป็นผู้ถวายงานแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับกิจกรรมวัฒนธรรมเกษตรล้านนา ได้แก่ พิธีกรรมเรียกขวัญควาย พิธีกรรมแฮกนาข้าว  พิธีกรรมการตำข้าว  งานกาดหมั้วครัวฮอมแบบล้านนา  ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ หลังจากนั้นปรากฏว่าได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ให้ช่วยทำพิธีกรรมล้านนาดังกล่าวทุกปี
              นายนิคมเขียนเรื่องราวต่างๆ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือแล้ว เช่น หม้อล้านนา, สารคดีผะหญาล้านนา ตอน ฮีตข้าววิถีคนล้านนา, ผะหญาล้านนา, ปาฏิหาริย์กู่ครูบาที่ผาดอยงุ้ม, ลัวะล้านนาโลกาภิวัตน์ : ย้อนนิยายปรัมปราเมืองลัวะ สู่ตำนานล้านนา และวิทยานิพนธ์เรื่อง “ภาวะผู้นำและกระบวนการกลุ่มในการพัฒนาชนบท” และยังมีผลงานการเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องราวของล้านนาในวารสารเชียงใหม่ปริทัศน์ เช่น เรื่องหัวก๊างหางตุง คำบอกคนล้านนา  ผะหญาการสังเกตทิศทางลม  “หม้อคำ – หม้อเงิน” คนล้านนาผะหญาการออมทรัพย์จากหม้อในพิธีกรรม เป็นต้น
              นายนิคมได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ ดังนี้ พ.ศ. ๒๕๓๒ รางวัลเพชรราชภัฏเชียงใหม่ ด้านโคลงฮ่ำจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๓ รางวัลศิลปินพื้นบ้านเชียงใหม่ จากจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๕  รับโล่เชิดชูเกียรติ “คนดีศรีดอนแก้ว” จากจังหวัดเชียงใหม่และองค์การบริหารส่วนตำบล  ดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และปัจจุบันได้รับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการบริหาร  สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่
              นายนิคมได้ให้การสนับสนุนสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนในการจัดตั้ง ศรช.สันกำแพง และเป็นอาจารย์พิเศษ วิชาภาษาไทยและวิชาเศรษฐกิจพอเพียง สอนนักศึกษา ศรป.เชียงใหม่ นอกจากนั้นยังได้ช่วยจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นล้านนาให้แก่สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนอีกด้วย

    สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน จึงเชิดชูเกียรติ

    นายนิคม พรหมมาเทพย์

     เป็น “เมธาจารย์มหาวิทยาลัยชีวิต”