Mon. Dec 9th, 2024

    นฤทธิ์ คำธิศรี

    คนดีศรีเมืองสกล

               นายนฤทธิ์ คำธิศรี ชาวอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร เกิดเมื่อวันที่ ๑  มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖ พ่อแม่มีอาชีพทำนา และเขาก็มีความใฝ่ฝันว่าจะเจริญรอยตามอาชีพของพ่อแม่ แต่เพราะความเหนื่อยยากลำบากที่พ่อแม่ประสบพบเจอ พ่อแม่จึงขายนาส่งเสียให้เขาได้รับการศึกษาสูงๆ และคัดค้านความคิดที่จะมาเป็นเกษตรกรของเขา เขาจึงคว้าปริญญาตรีจากคณะประมง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาให้พ่อแม่ได้ภูมิใจ พร้อมกับทำงานเป็นนักวิจัยในระบบราชการ แต่ทำได้เพียง ๖ เดือนก็ต้องลาออก เพราะไม่ชินกับระบบราชการ หันไปเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฟาร์มกุ้งของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง อีก ๖ เดือนต่อมาก็ได้เป็นที่ผู้จัดการฟาร์มกุ้ง ที่ได้รับเงินเดือนบวกเบี้ยเลี้ยงแสนกว่าบาท

                นายนฤทธิ์กลับมาเยี่ยมบ้านปีละไม่กี่ครั้ง แต่ทุกครั้งที่กลับมาเขาจะทดลองปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆ ไว้ในดินลูกรังที่หลาย ๆ คนมองข้ามทิ้งไว้เสมอ และจะกลับมาดูผลว่าพืชผลเหล่านั้นรอดหรือไม่ ปรากฏว่าพืชพันธุ์เหล่านั้นรอด แถมยังเจริญเติบโตงอกงามดี เป็นเหตุให้ตัดสินใจทิ้งเงินเดือนนับแสนที่ได้รับ หอบเอาเงินออมที่สะสมไว้สำหรับอาชีพเกษตรกรที่ใฝ่ฝัน กลับมาสร้างความฝันให้เป็นจริงที่แผ่นดินเกิด ท่ามกลางความสงสัยปนประหลาดใจของผู้คนโดยเฉพาะพ่อ อีกทั้งยังมีคำสบประมาทอีกมากมาย เช่น บ้าหรือเปล่า คิดอะไรอยู่ ไม่มีทางเป็นไปได้หรอกที่จะปลูกอะไรขึ้นในดินลูกรังหรอก ฯลฯ  

                 นายนฤทธิ์ไม่ย่อท้อกับคำพูดเหล่านั้น ทดลองปลูกต้นไม่นานาชนิดบนพื้นดินลูกรัง ๓๕ ไร่เพียงคนเดียว มีทั้งปลูกแบบขุดหลุม และปลูกแบบธรรมดาให้ต้นไม้ช่วยตัวเอง โดยปลูกทั้งพืชระยะสั้นมาก ระยะสั้น ระยะยาว และระยะยาวมาก เช่น กล้วย ยางพารา ไม้สัก ไม้เต็ง เป็นต้น โดยให้พืชต่าง ๆ เหล่านั้นช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เช่น ปลูกกล้วย ยางพารา พริก ฟัก ในหลุมเดียวกัน ให้ต้นกล้วยจะช่วยบังแดดให้กับพืชด้านล่างที่ยังเล็กอยู่ เมื่อพืชอายุสั้นให้ผลผลิตตายไป แล้วยางพาราก็โตขึ้นมาแทน โดยในสวนของนายนฤทธิ์ไม่มีการกำจัดวัชพืช ปล่อยให้หญ้าช่วยรักษาความชื้นบนดินให้กับไม้ใหญ่ จะได้ไม่ต้องเปลืองน้ำ และไม่ต้องเปลืองแรงรดน้ำด้วย

              นายนฤทธิ์ทำการเกษตรด้วยตนเอง โดยมีแนวคิดว่า ถ้าเริ่มทำการเกษตรแบบจ้างคนอื่นทำขาดทุนแน่นอน เกษตรกรจะต้องเริ่มต้นที่การพึ่งตนเองให้มากที่สุดก่อน จะเริ่มต้นโดยหวังผลทางธุรกิจไม่ได้ นายนฤทธิ์เสนอหลักการทำการเกษตรว่า ภูมิปัญญาชาวบ้าน  +  เทคโนโลยีสมัยใหม่  =  ง่ายและมีกำไร นายนฤทธิ์ทดลองซื้อต้นไม้พันธุ์ดีจากทั่วประเทศมาปลูกบนที่ดินลูกรังของตนเมื่อเข้าหน้าฝน แล้วไม่เหลียวแลต้นไม้เหล่านั้นอีกเลย สิ้นปีกลับมาดูปรากฏว่าต้นไม้ไม่ตาย จึงได้ความคิดว่า ถ้าใส่ปุ๋ยคอกสักนิด ให้น้ำสักหน่อย มันคงจะให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ นายนฤทธิ์ให้ข้อคิดว่า “ต้นไม้เกิดก่อนเรา มันต้องเก่งกว่าเรา  เราต้องดึงศักยภาพของมันออกมา วิธีนี้เป็นวิธีทำอะไรง่ายๆ แต่ได้เงิน”

                 ด้วยความคิดนอกกรอบ บวกกับเป็นคนขยัน จึงทำให้นายนฤทธิ์ สามารถทำให้พื้นที่โล่งเตียนเป็นสวน เป็นป่าทึบที่ให้ผลผลิต และอากาศที่บริสุทธิ์ เลี้ยงสัตว์หลายชนิด เช่น วัวขุน วัวฝูง เป็ด ไก่ แพะ แกะ พร้อมบ่อเลี้ยงปลา ๓ บ่อ เมื่อมีเวลาว่างเขาจะไปเป็นวิทยากรให้ความรู้กับชาวบ้านและนักเรียน นักศึกษา พร้อมทั้งประกาศว่า “เขาคือเกษตรกรผู้ไม่จน…และมีความสุขที่สุดคนหนึ่ง”

                ในปี ๒๕๔๗ นายนฤทธิ์ได้รับรางวัลคนดีศรีเมืองสกล จากจังหวัดสกลนคร ปี ๒๕๔๘ ได้รับรางวัลเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพดีเด่น สาขาไร่นาสวนผสม จากสํานักงานเกษตรจังหวัดสกลนคร ต่อมาได้รับรางวัลคนดีเมืองสกลเชิงประจักษ์ จากชมรมส่งเสริมคนดีเมืองสกล ได้รับปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาขาทรัพยากรเกษตร และปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก ม.แม่โจ้ สาขาเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรสัตว์น้ำ

                นายนฤทธิ์ให้การสนับสนุนโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตโดยเป็นกรรมการบริหาร ศรป. สกลนคร พร้อมเป็นวิทยากรให้กับ นักศึกษา ศรป. สกลนครทั้งระดับ ปริญญาตรีและปริญญาโท และให้ใช้สวนเกษตรผสมผสานของเขาเป็นแหล่งเรียนรู้ ของศรป. สกลนคร

    สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน

    จึงเชิดชูเกียรติ

    นฤทธิ์ คำธิศรี

    เป็น “เมธาจารย์มหาวิทยาลัยชีวิต”