Mon. Dec 9th, 2024

    จำนงค์ ประวิทย์

    ผู้นำชุมชนอนุรักษ์ลุ่มน้ำ

             นายจำนงค์ ประวิทย์ เกิดที่ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๙๒ หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ แล้ว ได้ออกมาช่วยพ่อแม่ทำข้าวไร่และทำสวนสมรม   ในปี ๒๕๒๐ ได้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ ๒ ต.บ้านยาง อ.คีรีรัฐนิคม   นายจำนงค์สังเกตพบว่า ผู้มีอำนาจทางการเมืองและผู้มีอิทธิพลต่างๆ ได้เข้าถือครองและใช้ประโยชน์จากป่าอันเป็นต้นกำเนิดของคลองยันอันเป็นสายน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวคีรีรัฐนิคม   จึงรวบรวมชาวบ้านที่มีความคิดเห็นร่วมกันจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาปลุกจิตสำนึกของชาวบ้านและรณรงค์ต่อต้านการบุกรุกเข้าถือครองที่ป่าของผู้มีอิทธิพล   จนกระทั่งปี ๒๕๓๐ รัฐบาลมีโครงการสร้างเขื่อนแก่งกรุงบนลุ่มน้ำคลองยัน   นายจำนงค์ได้รวบรวมชาวบ้านและผู้ห่วงใยสิ่งแวดล้อมในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนดังกล่าว   เพราะเห็นว่าการสร้างเขื่อนแก่งกรุงที่ต้องทำลายทรัพยากรป่าไม้ถึง ๒๕,๐๐๐ ไร่ เพียงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแค่ ๘๐ เมกะวัตต์   จะทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และความสมดุลทางธรรมชาติ   ซึ่งจะก่อผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านในชุมชนลุ่มน้ำคลองยัน   การเคลื่อนไหวคัดค้านดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลตัดสินใจสั่งระงับการสร้างเขื่อนแก่งกรุง และประกาศให้เป็นเขตอุทยานป่าแก่งกรุง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน

            นายจำนงค์เห็นว่า แม้รัฐบาลไม่สร้างเขื่อนแก่งกรุงและมีมาตรการพิทักษ์ป่า สัตว์ป่า และลุ่มน้ำคลองยัน   แต่การบุกรุกและช่วงชิงทรัพยากรในพื้นที่ป่ายังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องรุนแรง   มีนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินเป็นจำนวนมาก   มีการบุกรุกขยายพื้นที่ทำกินของเกษตรกร   มีการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่เน้นให้ได้ผลผลิตมากๆ   ใช้สารเคมีโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์   สารเคมีจากแปลงเกษตรไหลลงคลองยัน   ทำให้กุ้ง หอย ปู ปลาหลายชนิดสูญพันธุ์   นอกจากนี้ ยังมีการจับสัตว์น้ำแบบทำลายล้าง เช่น ช๊อตด้วยไฟฟ้า   นายจำนงค์จึงชักชวนสมาชิกที่เคยร่วมกันคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งกรุงจัดตั้งชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำคลองยันขึ้นในปี ๒๕๓๑   การรณรงค์เพื่อปลุกจิตสำนึกอนุรักษ์ของชมรมถูกเพ่งเล็งว่าเป็นพวกก่อกวน   พวกหัวรุนแรง   ไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐ   จึงได้เปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ โดยเปลี่ยนชื่อชมรมเป็น กลุ่มอาสาพัฒนาชนบท   ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่หน่วยจัดการต้นน้ำ   เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า   และนักศึกษากลุ่มอาสาพัฒนาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   ทำกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง   จนกระทั่งลุ่มน้ำคลองยันได้รับการประกาศจากรัฐบาลให้เป็น ๑ ใน ๓ ของลุ่มน้ำตัวอย่างของประเทศในปี ๒๕๓๖

             ต่อมา นายจำนงค์พบว่า องค์กรจะไม่ยั่งยืนถ้าไม่ทำงานพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย   การทำงานรณรงค์เพื่อส่วนรวมที่ไม่มีเงินทุนสนับสนุนทำให้เพื่อนสมาชิกลำบากยากจนลงเรื่อยๆ   จึงได้เชิญสมาชิกมาสุมหัวคุยกันเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา   สรุปว่าจะต้องทำงานสร้างรายได้และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วยกันให้ครอบคลุมทุกบริบทของชีวิต   สมาชิกจึงเห็นพ้องให้เปลี่ยนชื่อองค์กรเป็นกลุ่มเกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี ๒๕๓๙   ทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายขับเคลื่อนการพึ่งพาตนเองแบบครบวงจร โดยนายจำนงค์ทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม

              ผลงานที่ชัดเจนของกลุ่มคือ เกิด “วังปลา” อันเป็นเขตอภัยทานสัตว์น้ำขึ้นในชุมชนต่างๆ ที่คลองยันไหลผ่าน   จัดตั้งธนาคารหมู่บ้าน   ร้านค้าสาธิตของชุมชน   กองทุนสวัสดิการชุมชน   นายจำนงค์ได้ใช้บ้านและแปลงเกษตรของตนเป็นตัวอย่างการทำเกษตรแบบผสมผสานเพื่อความมั่นคงทางอาหาร   จัดอบรมหลักสูตรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อดำรงชีพตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่เกษตรกรและผู้สนใจ   ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่ม องค์กร และเครือข่ายเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน   ส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้ทำกิจกรรมพัฒนาตนเองและสังคม   และประสานกับภาคีต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างหลากหลาย   โดยสมาชิกเครือข่ายจะมาร่วมชุมนุมกันในงานประจำปีสืบชะตาสายน้ำคลองยันที่จัดขึ้นในหน้าน้ำเดือนพฤศจิกายนทุกปี

             ปี ๒๕๔๓ นายจำนงค์ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของกองทุนเพื่อสังคมภาคใต้ตอนบน     ปี ๒๕๕๐ เป็นกรรมการบูรณาการแผนงานเศรษฐกิจพอเพียงระดับจังหวัดสุราษฎร์ธานีของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์    ปี ๒๕๕๑ เป็นผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน และเป็นคณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการงานส่งเสริมการเกษตรปลอดภัย ของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี    ปี ๒๕๕๒ เป็นคณะทำงานลุ่มน้ำสาขาตาปี-พุมดวงตอนล่าง จ.สุราษฎร์ธานี ของกรมทรัพยากรน้ำภาค ๑๐    ปี ๒๕๕๔ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์    ปี ๒๕๕๕ ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์และศิลปาจารย์เกียรติยศจากมหาวิชชาลัยภาคใต้โดยศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี   และต่อมาปี ๒๕๕๘ ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

            นายจำนงค์ให้การสนับสนุนศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยการให้ใช้บ้านและแปลงเกษตรผสมผสานของท่านเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักศึกษาศูนย์เรียนรู้ของชุมชนเครือข่ายมหาวิทยาลัยชีวิตคีรีรัฐนิคม และเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้แก่นักศึกษาในเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ พร้อมสนับสนุนลูกชายและลูกสาวของตนให้เข้าเป็นนักศึกษาของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนด้วย

    สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน

    จึงเชิดชูเกียรติ

    ทองเหมาะ แจ่มแจ้ง

    เป็น “เมธาจารย์มหาวิทยาลัยชีวิต”